วันจันทร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2554

เพาะพันธุ์ปลาแรด เลี้ยงเองดีกว่า



เพาะพันธุ์ปลาแรด เลี้ยงเองดีกว่า

ในบรรดาปลาน้ำจืด ปลาแรด หรือปลาเม่น ได้รับความนิยมด้านการบริโภคไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า ปลาทับทิม ปลานิล ปลาสลิด และปลาช่อน

ด้วยว่าเนื้อนุ่มมีรสชาติดี และสามารถนำไปแปรรูปเป็นอาหารได้หลากหลายชนิดนั่นเอง

ทอดกระเทียม นึ่งมะนาว ต้มยำ แกงส้ม ฯลฯ ทั้งหมดนี้หากใช้ปลาสดๆ มาแปรรูปรับรองได้ว่าอร่อยไม่แพ้เนื้อปลาราคาแพงๆ ที่สั่งซื้อมาจากประเทศ

มิแปลกที่ปลาชนิดนี้เจ้าของกิจการร้านอาหาร หรือรับจัดโต๊ะจีน จึงมีเมนูปลาแรดไว้ เพื่อบริการลูกค้าด้วย

แหล่ง ที่เลี้ยงปลาแรดเป็นอาชีพกันมาก ส่วนใหญ่อยู่ที่ภาคกลาง แถวๆ จังหวัดนครปฐม กาญจนบุรี อุทัยธานี และปทุมธานี ซึ่งตลาดรับซื้อนั้น นอกจากตามร้านอาหารแล้ว ยังมีตลาดสดทั้งในท้องถิ่นและต่างถิ่น อาทิ ตลาดสี่มุมเมือง จังหวัดปทุมธานี ตลาดไท จังหวัดปทุมธานี ตลาดสุวพันธ์ จังหวัดอ่างทอง ตลาดบางเลน จังหวัดนครปฐม และองค์การสะพานปลา กรุงเทพมหานคร

ร้าน อาหารที่รับซื้อปลาแรดส่วนมากต้องการเฉพาะปลาเป็นๆ ทั้งนี้ เพราะว่าสามารถเลี้ยงโชว์ให้ลูกค้าได้เห็น และเมื่อนำไปแปรรูปเนื้อจะหวานอร่อยด้วย

ราคารับซื้อปลาเป็นๆ นั้นแพงกว่าปลาตาย โดยเฉลี่ย 30 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากมีต้นทุนค่าขนส่ง ซึ่งต้องใช้เวลาและพาหนะเพิ่มนั่นเอง

การ ขนส่งพาปลาเป็นๆ ไปขายนั้น ผู้เลี้ยงหรือพ่อค้าคนกลางจำเป็นต้องพักปลาก่อน กล่าวคือ นำปลาจากบ่อดินมาพักในบ่อปูนสักประมาณ 1-2 อาทิตย์ ทั้งนี้ เพื่อให้ปลาปรับสภาพ และป้องกันไม่ให้มีกลิ่นโคลนติดตัวปลาไป ซึ่งมีผลต่อรสชาติของผู้บริโภคด้วย

แถวๆ อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม มีการเลี้ยงปลาแรดกันมาก และผลผลิตส่วนหนึ่งก็นำส่งขายปลาเป็นให้กับร้านอาหารที่กรุงเทพฯ

ผู้ เลี้ยงปลาหรือพ่อค้าคนกลาง จะใช้รถกระบะบรรทุกถังไฟเบอร์กลาส ใส่น้ำ และติดตั้งแอร์ปั๊ม แล้วจับปลาจากบ่อมาใส่ถัง เดินทางส่งสินค้าให้ลูกค้า

ปลาสามารถอยู่ในถังไฟเบอร์กลาสที่มีออกซิเจนได้นานหลายๆ ชั่วโมง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับอัตราหนาแน่นที่ปล่อยปลาลงไป

กล่าว สำหรับพันธุ์ปลาที่ชาวบ้านนำมาเลี้ยงนั้น จะไม่เพาะขยายพันธุ์เอง ส่วนใหญ่ซื้อมาจากฟาร์มเพาะฟักของเอกชน ซึ่งมีมากอยู่ในอำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม และจากหน่วยงานที่สังกัดกรมประมง อาทิ สถานีประมงน้ำจืด จังหวัดอุทัยธานี โทร. (056) 513-040, (056) 514-894 สถานีประมงน้ำจืด จังหวัดชัยนาท โทร. (056) 411-304 และสถานีประมงน้ำจืด จังหวัดปทุมธานี โทร. (02) 569-1940

เหตุที่ชาวบ้านไม่นิยมเพาะขยายพันธุ์ เพราะว่าไม่มีความชำนาญหรือความรู้ในการจัดการ จึงซื้อพันธุ์มาเลี้ยง ซึ่งสะดวกและรวดเร็ว

อย่าง ไรก็ตาม มีข้อเสีย คือต้นทุนการผลิตสูง ด้วยว่า ลูกปลาแรดราคาอยู่ประมาณ 1-3 บาท ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับขนาดปลา มิหนำซ้ำผู้เลี้ยงไม่สามารถรับรู้ได้ว่าลูกปลาซื้อมามีคุณภาพดีหรือไม่

ผม มีเพื่อน ชื่อ นายดำ ณ พลฤทธิ์ อยู่ที่บ้านวังวัว ตำบลช้างซ้าย อำเภอพระพรหม จังหวัดนครศรีธรรมราช อยากเลี้ยงปลาแรด เพราะว่ามีบ่อดินเพิ่งขุดเสร็จใหม่ๆ 1 ไร่ ขับรถกระบะขึ้นมาหาผม จากนั้นเราก็เดินทางไปซื้อพันธุ์ปลาแรด ที่อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม

ที่ นี่มีหลายรายที่เพาะขยายพันธุ์ปลาแรดขาย เพื่อนผมซื้อลูกปลาตัวเล็กๆ เท่าเหรียญห้า ตัวละ 1.50 บาท จำนวน 6,000 ตัว นำไปปล่อยเลี้ยงในบ่อดินดังกล่าว

ช่วงแรกๆ ซื้ออาหารสำเร็จรูปให้ลูกปลากินทุกวัน ย่างเข้าเดือนที่ 3 ช้อนปลาขึ้นมาดู พบว่าตัวไม่ใหญ่มากนัก บางตัวก็ยังเท่าเดิมอยู่

ความท้อแท้ก็เข้ามาเยือน และนั่งคิดว่า ทำไมปลาไม่โต ทั้งๆ ที่ปลากินอาหารเกือบทุกวัน

เขา เก็บข้อคิดดังกล่าวมาถาม ผมบอกว่า เราอาจจะไปซื้อลูกปลาที่มีคุณภาพต่ำ หรือหางปลามาเลี้ยงก็ได้ เขาทนเลี้ยงปลาต่อไปอีก จนครบ 1 ปี ปรากฏว่า ปลาตัวโตไม่เท่ากัน และมีน้ำหนักอยู่ระหว่าง 2-5 ขีด เท่านั้น

หลังจากนั้น นายดำก็เลิกกิจการ แล้วหันไปเลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุยตามเพื่อนบ้านแทน และประสบความสำเร็จ

เหตุ ที่ผมยกตัวอย่างการเลี้ยงปลาแรดของนายดำมาเผยแพร่ ก็เพราะผมอยากให้เห็นว่า ปลาแรด แม้ว่าเป็นปลากินพืชที่เลี้ยงง่าย แต่ถ้าว่าไม่ให้ความสำคัญต่อสายพันธุ์ปลาที่นำมาเลี้ยงก็ประสบความสำเร็จได้ ยากเหมือนกัน

ปลาทุกชนิด มีเพาะขยายพันธุ์และมีลูกๆ ออกมา จะมีหัวปลากับหางปลา หากนำหัวปลามาเลี้ยงขุน ส่วนใหญ่จะเจริญเติบโตเร็ว ตรงกันข้ามถ้านำหางปลามาเลี้ยงก็โตช้ามาก แม้ว่ากินอาหารมากก็ตาม

ฉะนั้น หากคิดเลี้ยงสัตว์น้ำก็ต้องพึงระวังจุดนี้ด้วย ควรถามว่าเป็นหัวปลาหรือหางปลา ถ้าไม่แน่ใจก็เพาะขยายพันธุ์เองดีกว่า ซึ่งปลาแรดนี้ทำไม่ยากอะไรเลย เพียงแต่เรามีความตั้งใจจริงเท่านั้นเอง

กรม ประมงได้ศึกษาเรื่องการเพาะขยายพันธุ์ปลาแรดและประสบความสำเร็จแล้ว วันนี้ผมขอนำผลงานดังกล่าวมาเผยแพร่ หลังจากสำนักพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการประมง กรมประมง ได้ทำหน้าที่ไปแล้ว ทั้งนี้ เพื่อให้ความรู้กระจายไปสู่ผู้สนใจมากขึ้น



การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์

ตาม ปกติปลาแรดเพศผู้และเพศเมียมีลักษณะคล้ายคลึงกันมาก จะจำแนกความแตกต่างได้ชัดก็ต่อเมื่อมีขนาดสมบูรณ์พันธุ์ โดยสังเกตจากลักษณะภายนอกของตัวปลา คือตัวผู้ที่โคนครีบหูจะมีสีขาวและมีนอ ที่หัวโหนกสูงขึ้นจนเห็นได้ชัด ตัวเมียที่โคนครีบหูมีสีดำอย่างเห็นได้ชัด

ถ้าแม่ปลาตัวเมียพร้อมวางไข่สังเกตได้ว่าท้องอูมเป่ง

ปลา แรดตัวเมียเริ่มมีไข่เมื่ออายุ 2 ปีขึ้นไป หรือมีน้ำหนักตัวไม่ต่ำกว่า 2 กิโลกรัม มีไข่ประมาณ 2,000-4,000 ฟอง แม่ปลาตัวหนึ่งสามารถวางไข่ได้ 2-3 ครั้ง ต่อปี

สำหรับอัตราส่วนการปล่อยพ่อแม่ปลาเพื่อผสมพันธุ์นั้น ใช้เพศผู้ 2 ตัว ต่อเพศเมีย 1 ตัว โดยปล่อยปลา 1 ตัว ต่อพื้นที่ 3-5 ตารางเมตร

ปลา แรดมีปริมาณไข่มากในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เดือนสิงหาคม ดังนั้น ควรขุนพ่อแม่พันธุ์ปลาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป โดยใช้อาหารเม็ดลอยน้ำโปรตีนสูงหรืออาหารปลาดุกที่มีโปรตีน 25-30 เปอร์เซ็นต์ ให้ปริมาณ 2-3 เปอร์เซ็นต์ ของน้ำหนักปลาในบ่อ และควรเสริมด้วยอาหารสมทบประเภทพืช เช่น จอก สาหร่าย แหน กล้วยน้ำว้าสุก ผักต่างๆ เป็นต้น

สำหรับบ่อเพาะพันธุ์นั้น ควรเป็นบ่อดินขนาด 0.5-1 ไร่ ทั้งนี้ เพื่อสะดวกในการดูแลการวางไข่ และการรวบรวมไข่ปลามาอนุบาล

ภายในบ่อใส่ผักบุ้งหรือวัชพืชน้ำ เพื่อให้ปลานำไปใช้ในการสร้างรัง หรือจะใช้วัสดุอื่น เช่น เศษเชือกฟางสีต่างๆ

วัชพืช น้ำหรือวัสดุที่ใส่เพื่อให้ปลาสร้างรังนั้นควรวางกระจายเป็นจุดๆ ทั่วบ่อเพาะพันธุ์ เนื่องจากพ่อแม่ปลาจะสร้างอาณาเขตในการดูแลรังของมัน หรืออาจใช้คอกที่สร้างขึ้นบริเวณตลิ่งที่เป็นคุ้งของลำน้ำที่กระแสน้ำไม่แรง นักเป็นที่เพาะปลาแรดได้เช่นเดียวกับการเพาะในบ่อ

หลังจากปล่อยพ่อ แม่พันธุ์ปลาแรดลงในบ่อเพาะพันธุ์แล้วให้สังเกตการวางไข่ทุกวัน โดยปลาแรดจะใช้พืชจำพวกรากผักบุ้ง กิ่งไม้ รากหญ้า หญ้าแห้ง และวัสดุอื่นๆ ที่มีในบ่อนำมาสร้างรัง

รังปลาแรดมีลักษณะคล้ายรังนก ลักษณะกลมๆ และมีฝาปิดรัง ขนาดรังทั่วไปมีเส้นผ่าศูนย์กลางยาว 1 ฟุต โดยปลาแรดใช้เวลาในการสร้างรังประมาณ 3-5 วัน แม่ปลาจึงวางไข่

หาก ต้องการรู้ว่าแม่ปลาวางไข่แล้วหรือยัง ให้สังเกตได้จากคราบไขมันที่ลอยบนผิวน้ำเหนือรังที่แม่ปลาทำไว้ ถ้าพบว่ามีคราบไขมันบนผิวน้ำที่มีรังไข่ปลาแรดอยู่ หรือเมื่อจับดูที่รังแล้วพบว่า รังปิด หรือเมื่อเห็นแม่ปลามาคอยเฝ้าดูแลรังและฮุบน้ำโบกหางอยู่ใกล้ๆ รัง แสดงว่า ปลาวางไข่แล้ว จากนั้นตักรังไข่ขึ้นมา คัดเลือกเฉพาะไข่ที่ดี คือมีลักษณะสีเหลืองมันวาว ไปพักในบ่อฟักไข่ต่อไป

ไข่ของปลาแรดเป็น ประเภทไข่ลอย เมื่อปลาแรดวางไข่แล้ว ให้นำรังไข่ขึ้นมาแล้วตักเฉพาะไข่ดีและควรช้อนคราบไขมันออก มิฉะนั้นแล้วจะทำให้น้ำเสียและลูกปลาที่ฟักออกมาติดเชื้อโรคง่าย ต่อจากนั้นรวบรวมไข่ที่ดีใส่ถังกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 เมตร ระดับน้ำประมาณ 30-50 เซนติเมตร ให้เครื่องเป่าอากาศเบาๆ เพื่อเพิ่มออกซิเจนและใส่พืชน้ำ เช่น ผักบุ้ง เพื่อช่วยในการดูดซับไขมันและให้ลูกปลาได้ยึดเกาะ จะฟักไข่ในบ่ออนุบาลหรือฟักไข่ในกระชังผ้าโอลอนแก้ว ซึ่งมีโครงร่างสี่เหลี่ยมขนาด 2 x 1 x 0.5 เมตร และมีหูเกี่ยวหรือโครงเหล็กถ่วงที่พื้น เพื่อให้กระชังตึงคงรูปอยู่ได้

ในระหว่างการฟักควรเพิ่มอากาศหรือน้ำลงในกระชัง เพื่อไล่ไขมันที่ติดมากับไข่ออกให้มากที่สุด

ไข่ จะฟักออกเป็นตัวอ่อนภายใน 18-36 ชั่วโมง ที่อุณหภูมิ 20-30 องศาเซลเซียส เมื่อออกจากไข่ใหม่ๆ ตัวอ่อนจะลอยหงายท้องอยู่และรวมอยู่กันเป็นกลุ่มบริเวณพืชน้ำหรือรากผักบุ้ง

สำหรับการอนุบาลลูกปลาแรดนั้น แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ

ระยะ 1-5 วัน หลังจากเก็บไข่ออกจากรังและฟักออกเป็นตัวแล้ว ช่วงนี้ยังไม่ต้องให้อาหาร เนื่องจากลูกปลาจะใช้อาหารที่มีติดตัวมาเรียกว่า "ถุงไข่แดง" ซึ่งติดอยู่ตรงบริเวณท้องลูกปลาวัยอ่อน ในระยะนี้จะไม่ค่อยว่ายน้ำ และชอบอยู่รวมกันเป็นกลุ่มๆ

ระยะ 6-15 วัน ลูกปลาจะมีสีเข้มขึ้น ระยะนี้เรียกว่า ระยะถุงไข่แดงยุบ ในช่วงนี้เริ่มให้ไรแดงเป็นอาหาร โดยให้วันละ 2 ครั้ง (เช้า-เย็น) ลูกปลาจะเริ่มแตกกลุ่ม อยู่กระจายทั่วไปในบ่ออนุบาล

ระยะ 16-15 วัน ระยะนี้จะย้ายลูกปลาไปอนุบาลในบ่อดิน อัตราปล่อย 100,000 ตัว ต่อไร่ หรือประมาณ 60-65 ตัว ต่อตารางเมตร บ่ออนุบาลควรมีขนาด 400-800 ตารางเมตร ส่วนการอนุบาลในบ่อซีเมนต์ ควรใช้อัตราส่วน 5 ตัว ต่อตารางเมตร

ใน ช่วง 10 วันแรกที่ลงบ่อดิน ยังคงให้ไรแดงเป็นอาหารอยู่และเริ่มให้รำผสมปลาป่น ในอัตรา 1: 3 ผสมน้ำสาดให้ทั่วบ่อ เมื่อปลามีขนาดโตขึ้น จึงเริ่มเปลี่ยนมาเป็นอาหารเม็ดลอยน้ำหรืออาหารต้มวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ประมาณ 3-5 เปอร์เซ็นต์ ของน้ำหนักปลาในบ่อ อนุบาลจนกระทั่งลูกปลามีขนาดความยาว 2-3 เซนติเมตร ซึ่งเป็นขนาดที่เหมาะสมสำหรับการเลี้ยงในบ่อดินให้เติบโตได้ตามขนาดตลาดต้อง การ


ไม่มีความคิดเห็น: