วันจันทร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2554

ปลาแรด (Giant Gouramy)

 
 

เอกสารแจกเผยแพร่เพื่อให้ประชาชน
จัดทำโดย : กองส่งเสริมการประมง กรมประมง
พิมพ์ที่ : โรงพิมพ์ชุมนุนสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด
ปลาแรด (Giant Gouramy) Osphronemus guramy (Lacepede) เป็นปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ของไทยชนิดหนึ่ง ปลาขนาดใหญ่ที่พบมีน้ำหนัก 6-7 กิโลกรัม ความยาว 65 เซนติเมตร เป็นปลาจำพวกเดียวกับปลากระดี่และปลาสลิดแต่มีขนาดใหญ่กว่ามากมีเนื้อแน่น นุ่ม เนื้อมากไม่ค่อยมีก้าง รสชาติดี จึงได้รับความนิยมจากประชาชนผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ สามารถนำมาประกอบอาหารได้หลายชนิด เช่น ทอด เจี๋ยน ต้มยำ แกงเผ็ด ลาบปลา และน้ำยา ฯลฯ ในระยะหลังได้รับการจัดเป็นปลาจานในภัตตาคารต่าง ๆ หรือจะนำมาเลี้ยงเป็นปลาสวยงามก็ได้ สำหรับผู้เลี้ยงปลาแรดเป็นปลาที่เลี้ยงง่ายเช่นเดียวกับปลาสลิดราคาค่อนข้าง สูง มีความอดทนต่อสภาพแวดล้อมและโรคได้เป็นอย่างดี ให้ผลตอบแทนต่อการลงทุนดีมีกำไรและไม่มีปัญหาเรื่องตลาดเป็นปลาที่เลี้ยงได้ เป็นอย่างดีทั้งในบ่อและกระชัง มีอัตราการเจริญเติบโตรวดเร็ว สามารถแพร่ขยายพันธุ์ในบ่อได้ โดยเลี้ยงเพื่อขายเป็นปลาเนื้อหรือปลาสวยงาม
ปลาแรดสามารถเลี้ยงเป็นปลาสวยงามหรือเป็นอาหาร ซึ่งตลาดผู้บริโภคต้องการน้ำหนักประมาณ 1 กิโลกรัม

แหล่งกำเนิด
ปลาแรดมีชื่อเสียงอีกอย่างหนึ่งว่า"ปลาเม่น"มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินโดนีเซียแถบหมู่เกาะสุมาตรา ชวา บอร์เนียวและหมู่เกาะอินเดียตะวันออกในประเทศไทยภาคกลาง พบตามแม่น้ำแม่น้ำ ลำคลอง ตั้งแต่จังหวัดนครสวรรค์ถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ภาคใต้ที่จังหวัดพัทลุงและแม่น้ำตาปี จังหวัดสุราษฏร์ธานี ปัจจุบันปลาแรดที่อาศัยอยู่ตามแหล่งน้ำธรรมชาติมีจำนวนลดน้อยลง เนื่องจากแหล่งน้ำตื้นเขินขาดแหล่งวางไข่และแหล่งเลี้ยงลูกปลาวัยอ่อนที่เหมาะสม การเลี้ยงปลาแรดในกระชังยังไม่แพร่หลาย มีอยู่เฉพาะบริเวณแถบจังหวัดอุทัยธานี กาญจนบุรี ส่วนการเลี้ยงปลาแรดในบ่อดินขนาดใหญ่ยังมีอยู่น้อย การเพาะขยายพันธุ์และเลี้ยงปลาแรดเป็นจำนวนมาก จะทำให้มีปลาแรดบริโภคกันอย่างกว้างขวาง และช่วยอนุรักษ์ปลาแรดมิให้สูญพันธุ์
กระชังเลี้ยงปลาแรด ซึ่งใช้ไม้ไผ่เป็นวัสดุ
อุปนิสัย
ปลาแรดชอบอยู่ในน้ำนิ่งตื้น ๆ ตามแม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึงและทะเลสาบเป็นปลาที่ค่อนข้างตื่นตกใจง่ายแต่เชื่องช้า ผู้เลี้ยงสามารถฝึกหัดให้เชื่องได้ง่าย โดยวิธีการให้อาหาร ชอบอยู่ในที่เงียบสงัด มีพันธุ์ไม้น้ำที่มีอาหารอุดมสมบูรณ์ ปลาแรดที่ยังมีขนาดเล็กมักจะทำอันตรายกันเอง เป็นปลาที่ค่อนข้างทรหดอดทน เมื่อจับขึ้นจากน้ำก็สามารถมีชีวิตอยู่ได้นาน ๆ เพราะมีอวัยวะพิเศษช่วยในการหายใจ (accessory respiratory organ) มีลักษณะเป็นเยื่ออ่อน ๆ อยู่ในหัวตอนเหนือเหงือก โดยมีคุณสมบัติเก็บน้ำไว้หล่อเลี้ยงให้ความชุ่มชื้นแก่เหงือกในเวลาที่ปลาขึ้นพ้นน้ำ ทำให้ปลามีชีวิตอยู่ได้นานกว่าปกติ
รูปร่าง
ปลาแรดเป็นปลาในตระกูลเดียวกับปลาหมอไทย ปลาหมอตาล ปลากริม ปลากัด ปลากระดี่นาง ปลากระดี่หม้อ ปลาสลิด ซึ่งปลาในครอบครัวนี้มีลักษณะเด่นคือ เป็นปลาที่ค่อนข้างอดทน มีลำตัวสั้นป้อมและแบนข้าง หัวค่อนข้างเล็ก ปลาเล็กเฉียงขึ้นยืดหดได้ ฟันแข็งแรง เกล็ดใหญ่ ลำตัวมีสีน้ำตาลอ่อนหรือค่อนข้างเทา ครีบหลังครีบก้นยาวมาก ครีบหลังมีจำนวนก้านครีบแข็ง 12-16 อัน ก้านครีบอ่อน 10-11 อัน ครีบก้นมีก้านครีบแข็ง 9-13 อัน ก้านครีบอ่อน 17-18 อัน ครีบท้องมีก้านครีบแข็ง 1 อัน ก้านครีบอ่อน 5 อัน ก้านครีบอ่อนคู่แรกของครีบท้องมีลักษณะเป็นเส้นยาว ครีบหางกลม เกล็ดตามเส้นข้างตัว 30-33 เกล็ด มีจุดดำที่โคนหาง 1 จุด สีดำจางเป็นแถบพาดขวางลำตัวข้างละ 8 แถบ มีสีเงินรอบ ๆ จุดทำให้แลเห็นจุดเด่นขึ้น ลักษณะเช่นนี้ดูคล้ายกระดี่หม้อแต่ปลากระดี่หม้อมีจุดดำข้างละ 2 จุด เมื่อโตมีนอที่หัว สีตอนบนของลำตัวค่อนข้างเป็นสีน้ำตาลปนดำ ตอนล่างมีสีเงินแกมเหลือง ส่วนจุดที่โคนหางจะเลือนหายไป


การสืบพันธุ์
ุ์
ลักษณะเพศ ปกติปลาแรดเพศผู้และเพศเมียมีลักษณะคล้ายคลึงกันมาก จะเห็นได้ชัดก็ต่อเมื่อมีขนาดสมบูรณ์พันธุ์ คือ ตัวผู้จะมีนอ (Tubercle) ที่หัวของมันโหนกสูงขึ้นจนเห็นได้ชัดหัวโต ส่วนตัวเมียจะมีโหนกไม่สูงและที่ใต้ฐานของครีบอกตัวเมียจะมีจุดสีดำ แต่ตัวผู้จะมีแต้มสีขาว ปลาแรดที่มีอายุเท่ากัน ปลาตัวผู้จะโตกว่าปลาตัวเมีย ปลาแรดจะเริ่มมีไข่เมื่ออายุ 2-3 ปี น้ำหนักประมาณ 2-4 กิโลกรัม แม่ปลาขนาด 3 กิโลกรัมจะมีไข่ 2,000 - 4,000 ฟอง แม่ปลาตัวหนึ่งสามารถวางไข่ได้ 2-3 ครั้ง/ปี
พ่อแม่พันธุ์ปลาแรดที่สมบูรณ์เพศ
พร้อมที่จะผสมพันธุ์
การเพาะพันธุ์ปลา ปลาแรดสามารถวางไข่ได้ตลอดปี แต่จะมีไข่สูงในช่วง 7 เดือน ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - สิงหาคม ปลาแรดจะสร้างรังวางไข่ การเพาะพันธุ์จึงควรใส่ฟางหรือหญ้าเพื่อให้ปลาแรดนำไปใช้ในการสร้างรัง รังจะมีลักษณะคล้ายรังนกและจะมีฝาปิดรัง ขนาดรังโดยทั่ว ๆ ไปมีเส้นผ่าศูนย์กลางยาว 1 ฟุต ใช้เวลาสร้างประมาณ 1 สัปดาห์ การเพาะพันธุ์โดยวิธีธรรมชาติในบ่อดิน บ่อเพาะพันธุ์ควรเป็นบ่อขนาดใหญ่ 1-2 ไร่ อัตราการปล่อยปลาตัวผู้ต่อตัวเมีย 1 : 2 จำนวน 100-150 คู่/ไร่ แม่ปลาขนาด 3 กิโลกรัมจะมีไข่ระหว่าง 2,000 - 4,000 ฟอง
การเตรียมบ่อเพาะพันธุ์ บริเวณพื้นบ่อมีสภาพเป็นโคลน ให้มีหญ้าและพันธุ์ไม้น้ำขึ้นหนาสักหน่อย พร้อมทั้งหากิ่งไผ่ ผักให้จมอยู่ในน้ำเพื่อใช้เป็นที่สร้างรังพ่อแม่ปลาจะคอยระวังรักษาลูกอ่อน อยู่ใกล้ ๆ รังและจะพุ่งเข้าใส่ศัตรูที่มารบกวนอย่างเต็มที่ หรืออาจใช้คอกที่สร้างขึ้นบริเวณตลิ่งที่เป็นคุ้งของลำแม่น้ำที่ไม่ไหล เชี่ยวมากใช้เพาะปลาแรดเช่นเดียวกับการเพาะในบ่อ
การฟักไข่ ไข่ปลาแรดเป็นประเภทไข่ลอย (มีลักษณะกลมสีเหลืองอ่อนมีไขมันมาก กลิ่นคาวจัด ไม่มีเมือกเหนียว ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 มิลลิเมตร) เมื่อปลาแรดวางไข่แล้วนำรังที่มีไข่ขึ้นมาแล้วคัดเฉพาะไข่ดี ควรช้อนคราบไขมันออกมิฉะนั้นแล้วจะทำให้น้ำเสียและปลาติดเชื้อโรคได้ง่าย ต่อจากนั้นรวบรวมไข่ใส่ถังส้วมทรงกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 เมตร ระดับน้ำประมาณ 30-50 ซม. ให้เครื่องเป่าอากาศเบา ๆ เพื่อเพิ่มออกซิเจนและใส่พืชน้ำ เช่น ผักบุ้ง เพื่อช่วยในการดูดซับไขมันและให้ลูกปลาได้ยึดเกาะ หรือฟักไข่ในบ่อนุบาลหรือฟักในกระชังผ้าโอล่อนแก้ว กระชังมีรูปร่างสี่เหลี่ยมขนาด 2x1x0.5 ใช้หูเกี่ยวหรือโครงเหล็กถ่วงที่พื้นเพื่อให้กระชังตึงคงรูปอยู่ได้ใน ระหว่างการฟักควรเพิ่มอากาศหรือน้ำลงในกระชังเพื่อไล่ไขมันที่ติดมากับไข่ ออกได้มากที่สุด ไข่จะฟักออกเป็นตัวอ่อนภายใน 18-36 ชั่วโมง ที่อุณหภูมิ 20-30o เซลเซียส เมื่อออกจากไข่ใหม่ ๆ ตัวอ่อนจะลอยหงายท้องอยู่และยึดติดกับพืชน้ำ ลูกปลาจะเริ่มกินอาหารในวันที่ 5-7 โดยให้ไข่ชง อายุ 7-10 วัน ให้ไข่แดงต้มสุกละลายน้ำ ช่วงที่ให้ไข่เป็นอาหาร ควรให้ทีละน้อยในบริเวณที่ลูกปลารวมเป็นกลุ่ม อายุ 10-15 วัน จึงให้ไรแดง ลูกปลาแรดจะมีลักษณะคล้ายตัวเต็มวัย เมื่ออายุได้ 4 เดือน

การอนุบาล
บ่ออนุบาลลูกปลาควรมีขนาด 400-800 ตารางเมตร โดยปล่อยในอัตรา 100,000 ตัว/ไร่ ส่วนบ่อซีเมนต์ 5 ตัว/ตารางเมตร ในช่วง 10 วันแรกที่ลงบ่อดินให้ไรแดงเป็นอาหารและ 10 วันต่อมาให้ไรแดงและรำผสมปลาป่นอัตราส่วน 1: 3 สาดให้ทั่วบ่อ หลังจากนั้นจึงเปลี่ยนเป็นอาหารต้มหรืออาหารเม็ดลอยน้ำวันละ ประมาณ 3-5 เปอร์เซ็นต์ อนุบาลจนกระทั่งลูกปลามีขนาด 3 นิ้ว เพื่อนำไปเลี้ยงเป็นปลาขนาดตลาดต้องการต่อไป ลูกปลา 1 เดือน จะมีขนาดยาวประมาณ 1 ซม. เดือนที่ 2 จะมีความยาว 2-3 ซม. ซึ่งจะเป็นขนาดลูกปลาที่นำไปเลี้ยงเป็นปลาโตต่อไป
แหล่งพันธุ์ปลาแรด
เนื่องจากการเพาะพันธุ์เพื่อจำหน่ายลูกยังมีไม่มาก ส่วนใหญ่จะรวบรวมลูกปลาจากธรรมชาติ
ลูกปลาแรดขนาดประมาณ 3 นิ้ว ซึ่งนำไปเลี้ยง
เป็นปลาขนาดโตและปลาสวยงามราคาตัวละ 3-4 บาท

การเลี้ยงปลาแรด
สถานที่เลี้ยงปลาแรดที่นิยม มี 2 ลักษณะคือ
1. การรับเลี้ยงในบ่อดิน
2. การเลี้ยงในกระชัง
การเลี้ยงปลาแรดในบ่อดิน อัตราปล่อย 1 ตัว/ตารางเมตร ขนาดบ่อที่ใช้เลี้ยง 1-5 ไร่ จะใช้
เวลาเลี้ยง 1 ปี ปลาจะมีน้ำหนัก 1 กก. การเลี้ยงปลาแรดในบ่อจะปล่อยปลาแรดลงเลี้ยงรวมกับปลากินพืชอื่น ๆ ในบ่อที่มีพืชน้ำหรือวัชพืชขึ้น เพื่อให้ปลาแรดกินและเป็นการทำความสะอาดบ่อไปในตัว
ปลาแรดชอบกินพืชน้ำ ไข่น้ำ แหน ผักพังพวย ผักบุ้ง เศษอาหารที่เหลือจากโรงครัว แมลงในน้ำ ตัวหนอน ไส้เดือน และปลวก เป็นอาหาร
การเลี้ยงปลาแรดเพื่อความสวยงาม นิยมเลี้ยงปลาแรดในบ่อดิน บ่อซีเมนต์หรือตู้กระจกที่ไม่กว้างนัก เพราะปลาแรดสามารถปรับตัวให้มีชีวิตอยู่ในที่แคบได้ แต่มีอัตราการเจริญเติบโตค่อนข้างช้า นอกจากเลี้ยงในดินแล้ว ยังนิยมเลี้ยงในกระชังเช่น ที่แม่น้ำสะแกกรัง จังหวัดอุทัยธานี
การเลี้ยงปลาแรดในกระชัง การเลี้ยงปลาแรดในกระชังได้รับความนิยมมากขึ้นโดยการเปลี่ยนจากกระชังไม้มา เป็นกระชังเนื้ออวน เหมาะสมกับภาวะปัจจุบันซึ่งขาดแคลนไม้ในการสร้างกระชัง ดังนั้นการเตรียมสถานที่เลี้ยงปลาในกระชังจะต้องสร้างแพพร้อมทั้งมุงหลังคา กันแดด แพที่สร้างใช้ไม้ไผ่มัดรวมกัน และเว้นที่ตรงกลางให้เป็นช่องสี่เหลี่ยมเพื่อนำกระชังตาข่ายไปผูก กระชังตาข่ายกว้าง 3 วา ยาว 6 วา ลึก 1.8 เมตร กระชังขนาดดังกล่าวสามารถเลี้ยงปลาแรดขนาด 3 นิ้วได้ 3,000 ตัว
การลงทุนสร้างแพ 1 หลัง และซื้อตาข่ายทำกระชัง 3 กระชัง เป็นเงิน 30,000 บาท









กระชังเลี้ยงปลาแรด ซึ่งใช้ไม้เนื้อแข็งเป็นตัวกระชัง
มีอายุการใช้งานไม่น้อยกว่า 5 ปี
กระชังเลี้ยงปลา ซึ่งใช้ไม้เนื้อแข็ง เป็นโครงร่างกระชัง
ส่วนตัวกระชังใช้วัสดุจำพวกไนลอนหรือโพลีเอทีลีน


ทุ่นลอยที่ช่วยพยุงให้กระชังลอยน้ำได้ จะใช้แพลูกบวบหรือถังน้ำมัน
ปลาแรดสามารถเลี้ยงเป็นปลาเนื้อ และปลาสวยงาม
โครงสร้างกระชังที่ใช้เลี้ยงปลา ประกอบด้วย
โครงร่างกระชัง ส่วนมากเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าอาจทำด้วยไม้ไผ่ ไม้ท่อเหล็กชุบหรือท่อน้ำ พี.วี.ซี.
ตัวกระชัง เป็นส่วนที่รองรับและกักกันสัตว์น้ำให้อยู่ในพื้นที่จำกัด วัสดุที่ใช้ ได้แก่ เนื้ออวนจำพวกไนลอน โพลีเอทีลิน หรือวัสดุจำพวกไม้ไผ่ ไม้เนื้ออ่อน ไม้เนื้อแข็ง
ทุ่นลอย เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยพยุงให้กระชังสามารถลอยน้ำอยู่ได้ สามารถรับน้ำหนักของตัวกระชัง สัตว์น้ำที่เลี้ยงและเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาที่ลงไปปฏิบัติงานบนกระชัง
สำหรับอายุการใช้งานนั้น ขึ้นอยู่กับวัสดุที่ใช้ดังนี้
กระชังไม้ไผ่ จะมีอายุการใช้งาน 1- 2 ปี
กระชังไม้เนื้อแข็งจะมีอายุการใช้งานไม่น้อยกว่า 5 ปี
กระชังอวน จะมีอายุการใช้งานประมาณ 3-4 ปี
บริเวณที่เหมาะสมแก่การวางกระชังนั้น จำเป็นต้องตั้งอยู่ในบริเวณที่มีสภาพดีน้ำมีคุณสมบัติ เหมาะสมในการเลี้ยงปลา ห่างไกลจากแหล่งระบายน้ำเสียหรือน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรม และแหล่งน้ำนั้นไม่ควรมีปัญหาการเกิดโรคปลา
ข้อจำกัดของการเลี้ยงปลาในกระชัง
สภาพแวดล้อมในบริเวณที่ตั้งกระชังต้องเหมาะสม เช่น คุณภาพของน้ำต้องดีมีปริมาณออกซิเจนพอเพียง กระแสน้ำไหลในอัตราที่พอเหมาะและไม่เกิดปัญหา โรคปลาตลอดระยะเวลาที่เลี้ยง สถานที่ตึงกระชังควรตั้งอยู่ในบริเวณที่กำบังลมหรือคลื่นแรง ในกรณีที่เกิดพายุหรือน้ำท่วมโดยเฉียบพลัน
ปลาที่ปล่อยเลี้ยงควรมีขนาดใหญ่กว่าตาหรือช่องกระชัง หากปลามีขนาดเล็กหรือเท่ากับขนาดของช่องกระชัง ปลาจะลอดหนีจากกระชังไป หรือถ้าไม่ลอดก็จะเข้าไปติดตายอยู่ในระหว่างช่องกระชังได้
ปลาที่เลี้ยงควรมีลักษณะรวมกินอาหารพร้อม ๆ กันในทันทีที่ให้อาหารเพื่อให้ปลากินอาหารให้มากที่สุดก่อนที่อาหารจะถูกกระแสน้ำพัดพาออกไปนอกกระชัง
ในกรณีที่แหล่งน้ำเลี้ยงผิดปกติ เช่น เกิดสารพิษ น้ำมีปริมาณมากหรือน้อยในทันที อาจจะเกิดปัญหากับปลาที่เลี้ยงซึ่งยากต่อการแก้ไข หากประสบปัญหาดังกล่าวควรขนย้ายปลาไปเลี้ยงที่อื่น
อัตราการปล่อย
จากการทดลองของสมประสงค์และคณะ (2534) รายงานว่าอัตราการปล่อย 2 ตัว ต่อตารางเมตร มีอัตราการเจริญเติบโตที่ดีที่สุด และให้ผลกำไรมาก คือเลี้ยงบ่อขนาด 400 ตารางเมตร ในช่วงระยะเวลา 8 เดือน จะได้กำไรประมาณ 4,000 บาท ถ้าปล่อยในบ่อขนาด 1 ไร่ อาจจะได้กำไรถึง 15,972.12 บาทในช่วงเวลาเพียง 8 เดือน เท่านั้น
อาหาร
ปลาแรดเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย กินพืชและสัตว์เป็นอาหาร เมื่อยังมีขนาดเล็กชอบกินอาหารพวกสัตว์เล็ก ๆ ได้แก่ แพลงก์ตอน ลูกน้ำ ปลวก ลูกกบ ลูกเขียด ตัวหนอน ส่วนปลาที่มีขนาดโตเต็มวัยชอบกินอาหารจำพวกผักบุ้ง แหนจอก ผักกระเฉด ใบมันเทศ ส่วนอ่อนของผักตบชวา ใบผักกาด ใบข้าวโพด สาหร่ายและหญ้าอ่อน นอกจากนี้ให้อาหารประเภทรำต้ม ข้าวสุก เศษอาหาร กากมะพร้าวเป็นครั้งคราว ก็ให้ผลการเจริญเติบโตดี ปลาแรดชอบมาก เหมาะสำหรับการขุนพ่อแม่ปลาในช่วงฤดูวางไข่และผสมพันธุ์ปลาจะให้ไข่บ่อย และมีจำนวนเม็ดไข่มากขึ้นอีกด้วย

ชนิดอาหาร
% โดยน้ำหนัก
ปลาป่นอัดน้ำมัน
12
กากถั่วลิสงป่น
23
รำละเอียด
40
ใบกระถินป่น
4
วิตามินและแร่ธาตุ
1
ปลายข้าวหัก
20
รวม
100
การเจริญเติบโต
ลูกปลาแรดอายุ 3 เดือน จะมีความยาว 3-5 ซม.
ลูกปลาแรดอายุ 6 เดือน จะมีความยาว 10-15 ซม.
ลูกปลาแรดอายุ 1 ปี จะมีความยาว 20-30 ซม.
การป้องกัน
ปลาแรดที่เลี้ยงในบ่อดินมักจะประสบปัญหาตัวปลามีกลิ่นโคลน แต่ถ้าเลี้ยงในกระชังจะไม่มีปัญหาดังกล่าว เนื่องจากน้ำจะถ่ายเทตลอดเวลา สำหรับการแก้ไขกลิ่นเหม็นโคลนในเนื้อปลา ทำได้โดยการเปลี่ยนน้ำพร้อมทั้งควบคุมคุณภาพน้ำและอาหารที่เลี้ยงปลาในช่วง ก่อนจับประมาณ 3 วัน
โรคและศัตรู
โรค การเลี้ยงปลาแรดไม่ปรากฏว่ามีโรคระบาดร้ายแรงจะมีบ้างเมื่อลูกปลายังมีขนาดเล็ก คือ เชื้อรา
ศัตรู ปลาแรดเป็นปลาที่มีนิสัยเชื่องช้า จึงมักตกเป็นเหยื่อของปลาอื่นที่กินเนื้อเป็นอาหารซึ่งมีขนาดใหญ่กว่า เช่น ปลาช่อน ปลาชะโด ปลาบู่ ปลากราย ปลากะสง นอกจากนี้มีกบ เขียด เต่า ตะพาบน้ำ และนกกินปลา เป็นต้น
การจำหน่าย
ปลาที่มีอายุ 1 ปี จะมีน้ำหนัก 1 กิโลกรัม ซึ่งเป็นขนาดที่ตลาดต้องการ ส่วนปลาที่มีอายุ 3 ปี ควรทำการคัดเลือกปลาที่มีความสมบูรณ์เพื่อเก็บไว้เป็นพ่อแม่พันธุ์
การจับลำเลียงและขนส่ง
ฟาร์มเพาะพันธุ์ปลาจะขายลูกปลาให้แก่ผู้ซื้อไปเลี้ยงเป็นปลาใหญ่ 2 ขนาด คือ ปลาขนาด 2-3 ซม. ซึ่งใช้เวลาอนุบาล 1 เดือน และปลาขนาด 5-7 ซม. ใช้เวลาอนุบาล 2 เดือน ก่อนการขนส่งจะจับลูกปลามาพักไว้ในบ่อซีเมนต์หรือกระชังแล้วพ่นน้ำเพิ่มออกซิเจน และงดอาหารประมาณ 1-2 วัน เพื่อให้ลูกปลาเคยชินต่อการอยู่ในที่แคบและขับถ่ายอาหารที่กินเข้าไปออกให้มากที่สุด การลำเลียงนิยมใช้ถุงพลาสติกขนาด ปริมาณ 20 ลิตร ใส่น้ำ 5 ลิตร บรรจุลูกปลาขนาด 2-3 ซม. ในอัตรา 500-2,000 ตัว/ถุงอัดออกซิเจน หากลูกปลาโตขนาด 5-7 ซม. ควรใส่ปีบหรือถังลำเลียงในอัตรา 200-300 ตัว/ปีบ (น้ำ 10-15 ลิตร)
ทั้งนี้ในระหว่างการลำเลียงควรใส่ยาเหลืองในอัตรา 1-3 ส่วนในล้าน หรือเกลือในอัตรา 0.1-0.2% เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียและป้องกันเชื้อราที่จะเกิดขึ้นเมื่อปลาเกิดบาดแผลในระหว่างการเดินทาง ก่อนปล่อยปลาลงในที่ใหม่ ต้องแช่ถุงลำเลียงลูกปลาในน้ำประมาณ 15 นาที เพื่อปรับอุณหภูมิและสิ่งแวดล้อมให้กับลูกปลา
ต้นทุนและผลตอบแทน
การเลี้ยงปลาแรดให้มีขนาดตลาดต้องการ ใช้ระยะเวลา 1 ปี ปลาจะมีน้ำหนัก 1 กิโลกรัม โดยการลงทุนประมาณ 30 บาท แต่สามารถจำหน่ายได้ 50-80 บาท
เมื่อเปรียบเทียบต้นทุนกับกำไร โดยลงทุน 12,479 บาท กำไร 4,000 บาท คิดเป็นเปอร์เซ็นต์จะได้กำไร 32% ซึ่งเป็นเปอร์เซ็นต์ที่ค่อนข้างสูง
แนวโน้มการเลี้ยงปลาแรดในอนาคต
การเลี้ยงปลาแรดส่วนใหญ่ได้พันธุ์ปลามาจากการรวบรวมจากแหล่งน้ำธรรมชาติและ การเพาะพันธุ์ปลาโดยวิธีธรรมชาติ ในอนาคตหากกรมประมงประสบความสำเร็จในการฉีดฮอร์โมนกระตุ้นพ่อแม่พันธุ์ แล้วปล่อยให้ผสมพันธุ์แบบธรรมชาติได้ก็นับว่าเป็นแนวทางที่ดีเพราะสามารถ กำหนดและคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ได้ ทั้งอาจจะยังให้ปริมาณไข่มากกว่าด้วย อันจะเสริมสร้างความมั่นใจให้กับผู้เลี้ยงปลาแรดได้มีพันธุ์ปลาเพียงพอต่อ การเลี้ยง และสนองตอบความต้องการของตลาดผู้บริโภคปลาเนื้อและปลาสวยงาม


เอกสารอ้างอิง
อำพล พงษ์สุวรรณ และอารีย์ สิทธิมังค์. 2532. คู่มือการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ.กรมประมง. กรุงเทพฯ . น338-340
สำราญ ดำรงรัตน์. 2491. ข่าวกรมประมงปีที่ 1 (4) .น.217-223
สนิท ทองสง่า. 2501. การฟักไข่ปลาแรดในหนังสือกสิกรปีที่ 31(2) น. 157-161
สวัสดิ์ บุญไทย. 2495. การเลี้ยงปลาแรดในหนังสือข่าวกรมประมงปีที่ 5 (2). น.85-88
สถานีพัฒนาการเพาะเลี้ยงปลาจังหวัดปทุมธานี. 2529. รายงานประจำปี 2529. กองประมงน้ำจืด. น.65-73
สถานีประมงน้ำจืดจังหวัดชัยนาท. 2529. รายงานประจำปี 2529. กองประมงน้ำจืด. น.65-73
สมประสงค์ โมบัณฑิตย์ และคณะ 2534. การทดลองเปรียบเทียบการเจริญเติบโตของปลาแรดโดยอัตราปล่อยแตกต่างกัน ในรายงานการสัมมนาวิชาการประจำปี 2534
กรมประมง กรุงเทพฯ. น. 403-409


ริมบ่อ Thailand Web Stat

ไม่มีความคิดเห็น: