วันจันทร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2554

การเพาะและอนุบาลปลาสวยงาม

   การเพาะและอนุบาลปลาสวยงาม  
     
                การเพาะพันธุ์ปลาเป็นขั้นตอนที่สำคัญสำหรับผู้ที่ต้องการผลิตปลาสวยงามออกจำหน่าย   เพราะการเพาะพันธุ์ปลาแต่ละครั้งจะได้ลูกปลาจำนวนมาก   นอกจากนั้นการเข้าใจวิธีการเพาะพันธุ์ปลายังช่วยให้มีการปรับปรุงพันธุ์ปลา   รวมทั้งทำให้เกิดปลาสายพันธุ์ใหม่ๆได้ด้วย  ปัจจุบันวิชาการทางการเพาะและอนุบาลลูกปลาของนักวิชาการ   และนักเพาะเลี้ยงปลามืออาชีพในประเทศไทย   นับว่ามีความก้าวหน้าไม่แพ้ประเทศใดในโลก   สามารถผลิตพันธุ์ปลาและพันธุ์สัตว์น้ำได้แทบทุกชนิด   นอกจากนั้นยังมีการผลิตเอกสาร   ตำรา   และวารสารเกี่ยวกับการเพาะและอนุบาลสัตว์น้ำชนิดต่างๆ   ซึ่งผู้สนใจสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายหนังสือทั่วประเทศ   ทำให้ผู้เลี้ยงปลาสามารถติดตามความก้าวหน้าทางการประมงได้   แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ทำให้ผู้เลี้ยงปลาได้รับผลตอบแทนแตกต่างกันคือ   ความขยัน   การรู้จักดูแลเอาใจใส่   และความช่างสังเกตของผู้เลี้ยงเอง   โดยเฉพาะในเรื่องการเพาะและอนุบาล   จะต้องมีการดูแลเอาใจใส่มากเป็นพิเศษ   จึงจะทำให้ลูกปลามีอัตราการรอดสูง   เจริญเติบโตรวดเร็ว   มีลักษณะและสีสันตามต้องการ
1 การสืบพันธุ์ของปลา         Fishes kiss - (Fish)
          ปลาเป็นสัตว์มีกระดูกสันหลังที่มีวิวัฒนาการทางด้านการสืบพันธุ์แตกต่างกันมาก   อาจเนื่องจากปลามีจำนวนชนิดมากมาย   และมีความแตกต่างกันทั้งทางด้านลักษณะ   ขนาด   และถิ่นที่อยู่อาศัย   พบว่าปลามีการสืบพันธุ์ทุกแบบของการสืบพันธุ์แบบมีเพศ (Sexual  Reproduction) ของพวกสัตว์   ซึ่งมีดังนี้
          1.1 การสืบพันธุ์แบบแยกเพศ (Bisexual  Reproduction)  ซึ่งเป็นวิธีการสืบพันธุ์ของปลาส่วนใหญ่   ปลาจะมีการแยกเพศกันเด่นชัด   มีปลาเพศผู้ผลิตเชื้อตัวผู้   และปลาเพศเมียสร้างรังไข่   ได้แก่ปลาทั่วๆไป   เช่น  ปลาทอง   ปลาคาร์พ   ปลาเทวดา   ปลากัด
          1.2 การสืบพันธุ์แบบกระเทย (Hermaphroditism)   เป็นแบบที่มีการสร้างเซลสืบพันธุ์ทั้งเชื้อตัวผู้และไข่ภายในปลาตัวเดียวกัน   ปลาที่มีการสืบพันธุ์แบบนี้มีไม่มากนัก   แบ่งเป็น  2  ลักษณะ  คือ  
                    1.2.1 กระเทยแบบที่สร้างเชื้อสืบพันธุ์ทั้ง  2  ชนิดพร้อมกัน   เช่นปลาในครอบครัวปลากะรัง (ปลาทะเล)  
                   1.2.2 กระเทยแบบที่มีการเปลี่ยนเพศ  ปลาพวกนี้ในช่วงแรกของชีวิตจะเป็นเพศหนึ่ง   เมื่ออายุมากขึ้นหรือมีขนาดโตขึ้นจะกลายไปเป็นอีกเพศหนึ่ง   เช่น  ปลา Sparus   ช่วงแรกจะเป็นเพศผู้  ต่อมาจะกลายเป็นเพศเมีย  ปลาเก๋า  ปลากะรัง  และปลาไหลนาสกุล Monopterus   ช่วงแรกเป็นเพศเมีย   ต่อมาจะกลายเป็นเพศผู้
          1.3 การสืบพันธุ์แบบพาร์ธิโนเจเนซิส (Parthenogenesis)  เป็นการสืบพันธุ์ที่ไข่สามารถพัฒนาเป็นตัวอ่อน   โดยไม่ต้องได้รับการผสมจากเชื้อตัวผู้   เกิดได้กับพวกปลาออกลูกเป็นตัว  เช่น  ปลาหางนกยูง   ปลาสอดชนิดต่างๆ   ซึ่งปกติปลาเหล่านี้จะสืบพันธุ์แบบแยกเพศ   แต่ในขณะที่ไม่มีเพศผู้ของปลาเหล่านี้อยู่   ปลาเพศเมียอาจอาศัยน้ำเชื้อเพศผู้จากปลาชนิดอื่น   ช่วยกระตุ้นให้ไข่มีการพัฒนา   โดยที่เชื้อตัวผู้ไม่ได้เข้าไปผสมพันธุ์ด้วย   ไข่จะเกิดการแบ่งเซลพัฒนาไปโดยมีโครโมโซมครบจำนวน (เป็น Diploid)   แต่เนื่องจากเป็นโครโมโซมจากแม่เพียงตัวเดียว   ทำให้ลูกปลาที่เกิดมาจะมีแต่เพศเมียเท่านั้น                                                                             
2 แบบของการปฏิสนธิ           animated gifs                              
         ลักษณะของการผสมพันธุ์และการพัฒนาของไข่ปลามี  3  แบบคือ
          2.1 Oviparous   เป็นการผสมพันธุ์ของปลาส่วนใหญ่   โดยปลาเพศเมียจะปล่อยไข่ลงในน้ำ   แล้วปลาเพศผู้ที่ว่ายน้ำตามมาจะปล่อยน้ำเชื้อลงในน้ำเช่นกัน   เชื้อตัวผู้จะว่ายน้ำอย่างรวดเร็วเข้าผสมกับไข่ทางช่องเปิด   จากนั้นไข่ปลาที่ได้รับการผสมแล้วจะพัฒนาไปเป็นตัวอ่อนในน้ำ
          2.2 Viviparous   เป็นการผสมภายในตัวแม่เหมือนกับสัตว์บก   โดยปลาเพศผู้จะมีท่อสำหรับส่งน้ำเชื้อเพื่อผสมกับปลาเพศเมีย   ซึ่งพัฒนามาจากครีบท้อง   ไข่ที่ได้รับการผสมแล้วจะได้รับอาหารจากแม่ทางสายสะดือคล้ายสัตว์บก   จนคลอดออกมาเป็นตัว   ตัวอย่างปลาพวกนี้ได้แก่   ปลาฉลาม   และปลากระเบนบางชนิด
          2.3 Ovoviviparous   เป็นการผสมภายในตัวแม่เช่นกัน   แต่ไข่ที่ได้รับการผสมแล้วจะอาศัยอาหารจากไข่แดงภายในตัวไข่เอง   ไม่ได้รับอาหารจากตัวแม่   จนคลอดออกเป็นตัว   ตัวอย่างปลาพวกนี้ได้แก่   ปลาหางนกยูง   ปลาสอดชนิดต่างๆ   และปลาเซลฟิน   ปลาเพศผู้ของปลาพวกนี้จะมีท่อส่งน้ำเชื้อเช่นกัน   แต่พัฒนามาจากครีบก้น                                              
3 ลักษณะของไข่ปลา                                                                          
          ไข่ปลาส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นเม็ดกลม   แต่บางชนิดอาจเป็นรูปรี   หรือรูปหยดน้ำ   ส่วนประกอบของไข่ปลาแบ่งได้ดังนี้
         3.1 เปลือกไข่ (Egg  Shell  or  Chorion)  เป็นเยื่อบางๆมีความหนาแตกต่างกันไปตามประเภทของไข่ปลา   บางชนิดขยายตัวได้ดี   และบางชนิดอาจเกิดสารเหนียวเมื่อสัมผัสน้ำ   เปลือกไข่จะทำหน้าที่ป้องกันอันตรายจากการกระแทก   ที่เปลือกไข่จะมีช่องเล็กๆเรียก Micropyle   สำหรับเป็นทางเข้าของเชื้อตัวผู้
          3.2 ไข่แดง (Yolk)   เป็นตัวไข่ที่มองเห็น   เป็นสารประกอบโปรตีนที่จะเป็นอาหารสำหรับการพัฒนาของตัวอ่อน   ไข่แดงของปลาบางชนิดจะมีหยดน้ำมัน (Oil  Droplet) ปะปนอยู่ทำให้ไข่ลอยตัวได้ดี
3.3 ขั้วกำเนิด (Germinal  Disc)   เป็นจุดเล็กๆอยู่ทางด้านบนของไข่แดง   ที่เรียกว่า Animal  Pole   เป็นที่รวมของ Nucleus  และ  Cytoplasm   จะเป็นส่วนที่ได้รับการผสมจากเชื้อตัวผู้   แล้วมีการแบ่งเซลพัฒนาเป็นตัวอ่อน   
          3.4 ช่องว่างระหว่างไข่แดงกับเปลือกไข่ (Perivitelline  space)   เป็นช่องว่างที่มีขนาดเล็กมาก   เพื่อให้ไข่แดงสามารถหมุนได้รอบตัว   บางชนิดจะขยายตัวเมื่อไข่สัมผัสน้ำโดยน้ำจะซึมเข้าไปอยู่ภายใน
 
                                                          ภาพที่ แสดงส่วนประกอบของไข่ปลา                         
4 ประเภทของไข่ปลา         
          แบ่งตามความสามารถในการลอยน้ำได้เป็น  3  ประเภท  ดังนี้
         4.1 ไข่ลอย (Pelagic  Egg)  ไข่ชนิดนี้มีเปลือกบาง   ค่อนข้างใส   เปลือกไม่มีเมือกเหนียว   ไข่แดงมีหยดน้ำมันอยู่มาก   เมื่อปล่อยออกจากแม่ปลาแล้วมักจะลอยขึ้นอยู่ที่ผิวน้ำ   การฟักตัวค่อนข้างเร็ว   ตัวอ่อนที่ฟักออกจากไข่ประเภทนี้จะลอยตัวอยู่ผิวน้ำโดยหงายท้องขึ้น   ตัวอย่าง  เช่น   ปลากระดี่จูบ   ปลาแรด   ปลากัด   ปลากระดี่ชนิดต่างๆ   และปลากะพงขาว
         4.2 ไข่ครึ่งลอยครึ่งจม (Semibouyant  Egg)  ไข่ชนิดนี้มีเปลือกไข่บางไม่มีเมือกเหนียว   ไข่โปร่งใส   ไม่มีหยดน้ำมัน   การฟักตัวรวดเร็ว   เมื่อปล่อยออกจากแม่ปลาจะจมน้ำ   จากนั้นเปลือกไข่จะค่อยๆดูดน้ำเข้าไปในช่อง Perivitelline  Space   ทำให้เปลือกไข่ขยายตัวออก  3 - 5  เท่า   เกิดแรงพยุงให้ไข่ล่องลอยไปตามกระแสน้ำได้ดี   แต่ถ้าไม่มีกระแสน้ำไข่จะจมตัวลงตัวอ่อนที่ฟักออกจากไข่ประเภทนี้จะว่ายน้ำพุ่งตัวขึ้นลงตลอดเวลา   ตัวอย่าง  เช่น   ปลาสร้อย   ปลาตะเพียน   ปลาม้าลาย   ปลาทรงเครื่อง   และปลากาแดง
          4.3 ไข่จม (Demersal  Egg)  ไข่ชนิดนี้มักมีเปลือกหนา   ไข่ทึบแสง   ไม่มีหยดน้ำมัน   การฟักตัวช้า   เมื่อปล่อยออกจากแม่ปลาจะจมลงก้นบ่อ   ตัวอ่อนที่ฟักออกจากไข่ประเภทนี้จะเกาะคว่ำตัวอยู่ตามวัสดุต่างๆใต้น้ำ   ไข่ประเภทนี้ยังแบ่งออกเป็น  2  แบบ
                    4.3.1 ไข่จมแบบไม่ติดกับวัตถุ (Non  Adhesive-demersal  Egg)  ไข่ชนิดนี้จะจมอยู่ตามพื้นก้นบ่อหรือก้นภาชนะ   ปลาที่มีไข่แบบนี้มีไม่มากนัก   เช่น   ปลานิล   ปลามังกร
                   4.3.2 ไข่จมแบบติดวัตถุ (Adhesive-demersal  Egg)  ไข่ชนิดนี้เมื่อปล่อยออกจากแม่ปลาและได้สัมผัสกับน้ำ   จะเกิดสารเหนียวที่เปลือกไข่   ทำให้ไข่สามารถติดกับวัสดุต่างๆได้ทันทีที่ไข่ไปสัมผัส   เช่นตามราก   และลำต้นพันธุ์ไม้น้ำ   หรือผนังบ่อ   ตัวอย่าง  เช่น   ปลาสวาย   ปลาบู่   ปลาทอง   ปลาคาร์พ   ปลาเทวดา   ปลาปอมปาดัวร์   ปลานีออน   ปลากราย   และปลาออสการ์   
5 การจำแนกเพศปลาสวยงาม          
          การศึกษาความแตกต่างระหว่างเพศของปลาแต่ละชนิดจะช่วยให้สามารถเลือก   หรือเตรียมปลาแต่ละเพศตามจำนวนที่ต้องการได้   ปลาสวยงามบางชนิดสามารถจำแนกเพศได้ตั้งแต่ปลายังมีขนาดเล็ก   แต่ปลาบางชนิดก็จำแนกเพศได้ยากแม้ว่าปลาจะสมบูรณ์เพศแล้วก็ตาม   เช่น  ปลาเทวดา   ปลาออสการ์   และปลาปอมปาดัวร์   การจำแนกเพศปลาทำได้  2  แบบ  คือ
          5.1 ลักษณะเพศภายในของปลา   คือดูจากลักษณะของต่อมเพศภายในตัวปลา   เช่นเพศเมียมีการพัฒนาของรังไข่อย่างไร   และเพศผู้มีการพัฒนาของถุงน้ำเชื้ออย่างไร
          5.2 ลักษณะเพศภายนอกของปลา เป็นลักษณะภายนอกที่บ่งบอกความแตกต่างระหว่างเพศ   พิจารณาได้จากลักษณะต่างๆดังต่อไปนี้
                    5.2.1 รูปร่างและขนาดลำตัว โดยทั่วไปปลาเพศเมียจะมีลำตัวอ้วนป้อม   และตัวโตกว่าปลาเพศผู้   เช่น  ปลาหางนกยูง   ปลาสอด   ปลาซิว   ปลาสร้อย   ปลาตะเพียน   ปลาทรงเครื่อง   และปลากาแดง      
   
ภาพที่ แสดงความแตกต่างระหว่างเพศด้านรูปร่างและขนาดลำตัว
                    5.2.2 ความยาวของครีบ  ปลาเพศผู้หลายชนิดจะมีครีบต่างๆยาวกว่าเพศเมีย   เช่น  ปลากัด   ปลากระดี่   ปลาหางนกยูง   ปลาสอด   และปลาเซลฟิน
   
ภาพที่ 3  แสดงความแตกต่างระหว่างเพศด้านความยาวของครีบ
                    5.2.3 สีของลำตัว   ปลาเพศผู้หลายชนิดจะมีสีเข้มและสวยกว่าเพศเมีย   เช่นปลากัด   ปลากระดี่   ปลาหางนกยูง   และปลาเซลฟิน
   
ภาพที่ 4  แสดงความแตกต่างระหว่างเพศด้านสีของลำตัว
                    5.2.4 ตุ่มสิว (Pearl  Organ  or  Nuptial  Tubercle)  ปลาหลายชนิดที่เพศผู้จะสร้างตุ่มสากๆเกิดขึ้นบริเวณครีบหู   กระพุ้งแก้ม  และอาจมีที่ลำตัวในฤดูผสมพันธุ์   เป็นตุ่มขนาดเล็กต้องใช้มือลูบสัมผัสจึงรู้สึก   เช่น   ปลาคาร์พ   ปลาตะเพียน   ปลาสร้อย   ปลาทรงเครื่อง   ปลากาแดง   และปลากาดำ
 
ภาพที่ 5  แสดงลักษณะตุ่มสิวที่บริเวณก้านครีบหูของปลาทองเพศผู้
                    5.2.5 ติ่งเพศ (Urogenital  Papillae)  ปลาหลายชนิดจะมีความแตกต่างของติ่งเพศให้เห็นได้  โดยเพศเมียจะมีติ่งเพศสั้นกลม   ส่วนเพศผู้จะมีติ่งเพศเรียวยาวปลายแหลม   เช่น   ปลาบู่   ปลาแขยง   ปลากด   และปลาดุก
 
ภาพที่ 6  แสดงความแตกต่างระหว่างเพศด้านติ่งเพศ
                    5.2.6 ท่อส่งน้ำเชื้อ  ในปลาที่ออกลูกเป็นตัวจะมีท่อส่งน้ำเชื้อสำหรับใช้ในการผสมพันธุ์   โดยปลากระดูกแข็งจะพัฒนามาจากครีบก้น  เรียก  Intromittent  Organ  หรือ  Gonopodium   ทำให้ปลาเพศผู้ของปลาเหล่านี้ไม่มีครีบก้น   แต่มีท่อยาวๆอยู่หลังครีบท้อง   ส่วนปลาเพศเมียจะมองเห็นครีบก้นชัดเจน   เช่น   ปลาหางนกยูง   ปลาสอดชนิดต่างๆ   และปลาเซลฟิน   สำหรับปลากระดูกอ่อนจะพัฒนามาจากครีบท้อง   เรียก   Clasper   เช่น   ปลาฉลาม   และปลากระเบน
 
ภาพที่ 7  แสดงความแตกต่างระหว่างเพศด้านท่อส่งน้ำเชื้อ
5.2.7 Brood  Pouch   เป็นถุงหรือช่องที่บริเวณหน้าท้องของปลาเพศผู้   ใช้สำหรับเป็นที่ฟักไข่   โดยปลาเพศเมียจะวางไข่ไว้ที่บริเวณนี้   เช่นปลาม้าน้ำ   ปลาจิ้มฟันจระเข้
 
                                               ภาพที่ 8  แสดงความแตกต่างระหว่างเพศด้านBrood  Pouch           
6 แหล่งวางไข่ของปลา                   animated gifs
          จำแนกได้เป็น  2  ประเภท  คือ                                                                                  
          6.1 แหล่งน้ำไหล  ปลาที่วางไข่ในน้ำไหลส่วนใหญ่เป็นปลาที่ไม่มีการดูแลรักษาไข่และตัวอ่อน   และการแพร่พันธุ์มักจะเกิดในช่วงฤดูน้ำหลาก   พวกมีไข่แบบครึ่งลอยครึ่งจม   ปลาจะว่ายทวนน้ำขึ้นไปวางไข่ต้นน้ำ   ไข่ที่ได้รับการผสมแล้วจะถูกกระแสน้ำพัดพาไป   จากนั้นเปลือกไข่จะขยายตัวอุ้มน้ำเข้าไป   ช่วยป้องกันการกระทบกระแทกให้แก่เม็ดไข่   เช่น  ปลาซิว   ปลาสร้อย   ปลาตะเพียน   ปลากาแดง   ปลาทรงเครื่อง   ปลากาดำ   และปลาหมู   พวกมีไข่ลอยก็จะขึ้นไปวางไข่บริเวณต้นน้ำ   ปล่อยไข่ลอยมาตามกระแสน้ำ   เช่น   ปลาหมอไทย   ปลากระดี่จูบ   พวกไข่ติดก็จะขึ้นไปวางไข่ตามแหล่งน้ำท่วม   ปล่อยไข่ติดตามรากพันธุ์ไม้น้ำ   หรือใบหญ้า   เช่น   ปลาสวาย   ปลากด   ปลาแขยง   ปลาคาร์พ   และปลาทอง  
          6.2 แหล่งน้ำนิ่ง   มักเป็นปลาที่มีการดูแลรักษาไข่และตัวอ่อน   โดยมักมีการเลือกพื้นที่   แล้วทำการตกแต่ง   หรือมีการสร้างรังโดยเฉพาะ   ลักษณะการสร้างรังแบบต่างๆมีดังนี้
                    6.2.1 รังแบบกระทะ   ปลาจะทำรังเป็นแอ่งทรงกลมเหมือนกระทะตามชายน้ำ   เช่น  ปลานิล
                  6.2.2 รังเป็นโพรงมีรากพันธุ์ไม้น้ำ  ปลาจะขุดโพรงเข้าไปตามชายน้ำที่มีรากไม้   เพื่อวางไข่ติดตามรากไม้   ทั้งปลาเพศผู้และเพศเมียจะช่วยกันดูแลรักษาไข่และตัวอ่อน   เช่น   ปลาดุก
                 6.2.3 รังเป็นหวอดระหว่างพันธุ์ไม้น้ำ  ปลาจะสร้างรังโดยฮุบอากาศผสมน้ำลายสร้างเป็นฟองอากาศ   เป็นกลุ่มอยู่ตามใต้ใบพันธุ์ไม้น้ำ   เรียกหวอด   เมื่อวางไข่แล้ว   ปลาเพศผู้จะดูแลรักษาไข่และตัวอ่อน   เช่นปลากัด   และปลากระดี่ชนิดต่างๆ
                   6.2.4 รังเป็นวงระหว่างพันธุ์ไม้น้ำ  ปลาจะแหวกพันธุ์ไม้น้ำออกเป็นพื้นที่ว่างรูปวงกลม   แล้ววางไข่ลอยอยู่ภายในวงกลมนั้น   ทั้งปลาเพศผู้และเพศเมียจะช่วยกันดูแลรักษาไข่และตัวอ่อน   เช่นปลาชะโด  
                6.2.5 รังคล้ายรังนก   ปลาจะคาบเศษหญ้ามาสานทำเป็นรังคล้ายรังนก   แล้ววางไข่เข้าไปภายในรัง   ทั้งปลาเพศผู้และเพศเมียจะช่วยกันดูแลรักษาไข่และตัวอ่อน   เช่น   ปลาแรด
                6.2.6 รังเป็นวัสดุแข็งตามก้นบ่อ  ปลาจะเลือกบริเวณที่เป็นพื้นที่แข็งและค่อนข้างเรียบตามชายน้ำ   จากนั้นจะทำความสะอาดกัดเอาตะไคร่น้ำ   และไล่ตะกอนออกเป็นวง   แล้ววางไข่   ทั้งปลาเพศผู้และเพศเมียจะช่วยกันดูแลรักษาไข่และตัวอ่อน   เช่น   ปลาเทวดา   ปลาออสการ์   ปลาปอมปาดัวร์   และปลาหมอชนิดต่างๆ
         การศึกษาแหล่งวางไข่ของปลาจะช่วยให้สามารถจัดการระบบต่างๆในบ่อเพาะพันธุ์ได้ดี   เช่นพวกที่วางไข่น้ำไหล   บ่อเพาะสามารถเปิดลมให้เกิดการหมุนเวียนน้ำอย่างเต็มที่   จะช่วยกระตุ้นการวางไข่ของปลาได้ดี   ส่วนปลาที่วางไข่น้ำนิ่งไม่ต้องการการหมุนเวียนของน้ำมากนัก  แต่ต้องการในเรื่องของวัสดุที่จะเป็นรัง   จะต้องจัดให้เหมาะสม                                                                             
7 วิธีการเพาะพันธุ์ปลา              water fish
          การเพาะพันธุ์ปลาที่ดำเนินการกันอยู่ในปัจจุบันมีหลายวิธีการ   ดังนี้
          7.1 การเพาะพันธุ์ปลาแบบกึ่งควบคุมธรรมชาติ  เป็นวิธีที่ใช้เพาะปลาที่ขยายพันธุ์ได้ง่ายๆ   โดยเฉพาะพวกที่ออกลูกเป็นตัว   ผู้เพาะไม่ต้องจัดเตรียมอะไรมากนัก   เพียงแต่นำปลามาปล่อยไว้แล้วให้อาหารเลี้ยงดูไปเรื่อยๆ   ปลาก็จะมีการแพร่พันธุ์ให้ตัวอ่อนออกมาเอง   เมื่อพบว่าลูกปลาโตพอสมควรก็รวบรวมออกจำหน่าย   เช่น  ปลาหางนกยูง   ปลาสอด   และปลาเซลฟิน
          7.2 การเพาะพันธุ์ปลาแบบควบคุมธรรมชาติ   หรือเลียนแบบธรรมชาติ  เป็นวิธีการเพาะพันธุ์ปลาที่มีการควบคุมใกล้ชิด   มีการจัดเตรียมสิ่งต่างๆให้แก่ปลา   ดังนี้
                  7.2.1 บ่อเพาะ   จัดเตรียมขนาดบ่อเพาะตามความเหมาะสมของปลาแต่ละชนิด   เช่น  ปลาทอง  บ่อเพาะควรมีขนาด  1 - 2  ตรม.   ปลาตะเพียนทอง  บ่อขนาด  2 - 4  ตรม.   ปลาคาร์พ  บ่อขนาด  4 - 6  ตรม.   ปลาออสการ์  บ่อขนาด  2 - 4  ตรม.   ปลาเทวดา   ปลานีออน   ปลาม้าลาย   ปลาซิว   และปลาเสือสุมาตรา  เพาะในตู้กระจกได้ดี
                   7.2.2 เตรียมรัง   เช่น  ปลาทอง  ปลาคาร์พ  ใช้รังเป็นกระจุกลอยน้ำ(อาจใช้รากผักตบชวา)   ปลาเทวดา   ปลาออสการ์   ปลากราย   ใช้แผ่นกระเบื้อง   ปลาปอมปาดัวร์   และปลาหมอชนิดต่างๆ  ใช้กระถาง  
                    7.2.3 เตรียมน้ำ   เป็นน้ำที่มีคุณภาพดี   จะช่วยกระตุ้นให้ปลาวางไข่
                  7.2.4 คัดเลือกพ่อแม่พันธุ์   เลือกปลาที่พร้อมจะวางไข่    คือมีไข่แก่   และน้ำเชื้อดี   จากนั้นจะต้องจัดจำนวนคู่และสัดส่วนระหว่างเพศให้เหมาะสม  เช่น  ปลาทอง   ปลาคาร์พ   ใช้แม่ปลาบ่อละตัว   และใช้ปลาเพศผู้  2  ตัว   ปลาซิว  และปลาสร้อย  ที่มีขนาดเล็กต่างๆ   ใช้แม่ปลาบ่อละ  5 - 10  ตัว  และใช้ปลาเพศเมีย : ปลาเพศผู้  =  1 :  2   ส่วนปลาที่มีการจับคู่ดูแลรักษาไข่และตัวอ่อน ควรปล่อยปลาบ่อละ  1  คู่
                    7.2.5 เพิ่มลม   ถ้าเป็นชนิดปลาที่วางไข่น้ำไหล   ควรเปิดเครื่องปั๊มลมให้แรงเพื่อเพิ่มออกซิเจน   และเพื่อให้น้ำมีการหมุนเวียนมากคล้ายน้ำไหล   แต่ถ้าเป็นปลาวางไข่น้ำนิ่ง   ควรเปิดเครื่องปั๊มลมค่อยๆเพื่อเพิ่มออกซิเจนเท่านั้น
          7.3 การเพาะพันธุ์ปลาโดยฉีดกระตุ้นด้วยฮอร์โมน  เป็นวิธีการที่ใช้เพาะปลาที่ไม่สามารถวางไข่ในบ่อเลี้ยงหรือในบ่อเพาะได้   หรือเป็นปลาที่วางไข่ยาก   ถึงแม้ปลาพวกนี้จะมีการสร้างรังไข่และน้ำเชื้อได้ดี   แต่จะไม่เกิดพฤติกรรมการแพร่พันธุ์วางไข่   ทั้งนี้เนื่องจากปลา      ต้องการความจำเพาะจากสภาพแวดล้อม   เช่นต้องการการว่ายน้ำสวนน้ำหลากเป็นระยะทางไกลๆ   หรือเลือกพื้นที่วางไข่ที่เฉพาะเจาะจง   โดยปลาที่จะนำมาฉีดกระตุ้นด้วยฮอร์โมน   จะต้องเป็นปลาที่มีไข่แก่และน้ำเชื้อดีแล้ว   การเพาะพันธุ์ปลาวิธีนี้ยังแบ่งเป็น  2  แบบ  ดังนี้
                    7.3.1 การฉีดฮอร์โมนเพื่อให้เกิดการแพร่พันธุ์วางไข่  เป็นวิธีการที่เมื่อฉีดฮอร์โมนให้แก่พ่อแม่พันธุ์ปลาเรียบร้อยแล้ว   จะปล่อยปลาลงบ่อเพาะ   หลังจากนั้นประมาณ       4 - 6  ชั่วโมง   ปลาจะเกิดการผสมพันธุ์วางไข่กันเอง   เช่น  ปลาตะเพียนทอง   ปลาทรงเครื่อง   ปลากาแดง   ปลาหมู   และปลาหางไหม้
                   7.3.2 การฉีดฮอร์โมนเพื่อให้เกิดการตกไข่  เป็นวิธีการที่เมื่อฉีดฮอร์โมนให้แก่พ่อแม่พันธุ์ปลาแล้ว   จะพักปลาไว้ในบ่อพัก   เพราะปลาพวกนี้จะไม่เกิดการผสมพันธุ์วางไข่เอง   ต้องรอจนปลาพร้อมที่จะตกไข่   จึงนำขึ้นมารีดไข่และน้ำเชื้อผสมกันในภาชนะ   ซึ่งวิธีการที่นิยมใช้สำหรับการรีดไข่และน้ำเชื้อปลาผสมกันในปัจจุบัน   เรียกว่า   วิธีดัดแปลงวิธีแห้ง (Modified  Dry Method)   คือเตรียมภาชนะขนาดเล็กผิวเรียบที่แห้ง   เช่น   กะละมังอะลูมิเนียม หรือกะละมังพลาสติก      ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง  12 - 15  เซนติเมตร   นำแม่ปลาที่พร้อมจะรีดไข่ได้มาเช็ดตัว   เพื่อป้องกันไม่ให้มีน้ำจากตัวปลาหยดลงไปในกะละมังในขณะรีดไข่   จากนั้นรีดไข่จากท้องปลาลงในกะละมังจนหมดท้อง   แล้วนำปลาเพศผู้มาเช็ดตัวเช่นกันและรีดน้ำเชื้อลงบนไข่ที่รีดไว้แล้ว   ใช้ขนไก่คลุกเคล้าไข่และน้ำเชื้อปลาให้เข้ากัน(ใช้เวลาประมาณ  30  วินาที)   เติมน้ำสะอาดลงไปให้พอท่วมไข่และใช้ขนไก่คลุกเคล้า   การผสมของไข่และเชื้อตัวผู้จะเกิดในขณะนี้   เพราะเมื่อไข่ได้รับน้ำช่อง Micropyle จะเปิด   ในขณะที่เชื้อตัวผู้เมื่อได้สัมผัสน้ำเช่นกัน   ก็จะเกิดการว่ายน้ำอย่างรวดเร็ว   และจะเข้าไปทางช่องเปิดของไข่ได้   ซึ่งจะปล่อยให้เชื้อตัวผู้เข้าไปได้เพียงตัวเดียวแล้วจะปิด   สำหรับไข่ที่ไม่มีเชื้อตัวผู้เข้าผสมช่อง Micropyle ก็จะปิดภายในเวลา  30 - 60  วินาที   ดังนั้นเมื่อใช้ขนไก่คนไปมาประมาณ  1  นาที   จะหยุดเพื่อปล่อยให้ไข่ตกตะกอนลง   แล้วรินน้ำทิ้งเพื่อไล่น้ำคาวที่มากับไข่และน้ำเชื้อทิ้งไป   จากนั้นจะเติมน้ำใหม่อีกให้เกือบเต็มกะละมัง   ใช้ขนไก่คนประมาณ  1  นาทีปล่อยตกตะกอน   แล้วรินน้ำทิ้งเพื่อไล่น้ำคาว   ทำเช่นนี้  2 - 3 ครั้งแล้วนำไข่ไปใส่บ่อฟักไข่   ในกรณีที่เป็นไข่ติด   เมื่อเติมน้ำพอท่วมไข่และใช้ขนไก่คลุกเคล้าแล้ว   ต้องนำไข่ไปใส่บ่อฟักไข่เลย   เพราะถ้าใส่น้ำมากเปลือกไข่จะเกิดสารเหนียว   ไข่จะจับตัวกันเองเป็นก้อนทำให้ไม่สามารถฟักตัว   การใส่น้ำน้อยจะทำให้ไข่ยังไม่เกิดสารเหนียว   เมื่อนำไปใส่บ่อฟักไข่จึงเกิดสารเหนียวแล้วติดกับวัสดุหรือรังเทียมที่เตรียมไว้                     
8 ฮอร์โมนที่ใช้ในการเพาะพันธุ์ปลา        
          ฮอร์โมนที่นิยมใช้เพาะพันธุ์ปลากันในปัจจุบันมี  3  ประเภท  คือ
8.1 ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง (Pituitary  Hormone)    เป็นฮอร์โมนที่ได้จากต่อมใต้สมอง (Pituitary  Gland) ของปลา   ปกติต่อมใต้สมองจะหลั่งฮอร์โมนที่สำคัญหลายชนิด   แต่ฮอร์โมนที่เกี่ยวกับการสืบพันธุ์วางไข่ (Gonad  Stimulating  Hormone  or  Gonadotropin) ที่สำคัญมี  2  ชนิด  คือ  FSH (Follicle  Stimulating  Hormone)   ทำหน้าที่กระตุ้นการเจริญของไข่ในตัวเมีย   และการแบ่งเซลของเชื้อตัวผู้ในเพศผู้   กับ   LH (Luteinizing  Hormone)   ทำหน้าที่ช่วยให้เกิดการตกไข่ในเพศเมีย   และการสร้างเชื้อตัวผู้ในเพศผู้
                    ในสมัยก่อนการใช้ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง  นับเป็นวิธีการที่ได้รับความนิยมอย่างมาก   เนื่องจากได้ผลดีกว่าการใช้ฮอร์โมนชนิดอื่นๆ   การเก็บต่อมใต้สมองจะนิยมเก็บจากปลาที่มีปริมาณไข่ค่อนข้างมาก   โดยเฉพาะในพวกปลาคาร์พ   ซึ่งได้แก่  ปลาจีน   ปลายี่สกเทศ   ปลาไน   และปลานวลจันทร์เทศ   เพราะต่อมใต้สมองของปลาเหล่านี้จะมีการสะสมฮอร์โมนไว้ค่อนข้างมาก   และสามารถนำไปฉีดให้กับปลาชนิดต่างๆได้ผลดี   โดยไม่จำเป็นต้องฉีดให้กับปลาชนิดเดียวกันกับที่เก็บต่อมใต้สมองมา  
          ต่อมใต้สมองที่เก็บออกจากตัวปลาแล้ว   ไม่จำเป็นต้องใช้ในสภาพสดทันที   แต่สามารถเก็บรักษาไว้ในน้ำยาอะซีโตนได้เป็นเวลานานหลายเดือน   เมื่อต้องการใช้จึงนำออกมาจากน้ำยาก็จะสามารถใช้ได้ทันที   การใช้กำหนดหน่วยเป็น  Dose   ซึ่งคำนวณได้จากสูตร
                 dose     =         น้ำหนักของปลาที่ถูกเก็บต่อมใต้สมอง /       
                                    น้ำหนักของปลาพ่อแม่พันธุ์ที่จะฉีดฮอร์โมน            
                              หรือ      =      Donor/Recipient                  =    D/R
                                                                     
ตัวอย่าง   ต้องการฉีดฮอร์โมนให้ปลากาแดง  จำนวน  50  ตัว   น้ำหนักตัวละ  40  กรัม   ด้วยต่อม
                ใต้สมองของปลาไน   ให้ปลากาแดงได้รับฮอร์โมนตัวละ  0.8  dose
การคำนวณ     ปลากาแดงที่ต้องการฉีดมีน้ำหนักตัวละ          40      กรัม
                        กำหนดปริมาตรน้ำยาที่จะฉีดเข้าตัวได้ตัวละ   0.1     ซีซี(เพราะเป็นปลาขนาดเล็ก)
                   จำนวนปลาที่ต้องการฉีดฮอร์โมน                  50        ตัว
                  \น้ำหนักปลารวมทั้งหมด                        =   40  X  50            =   2,000   กรัม
                  \ปริมาตรน้ำที่จะใช้ผสมต่อม                    =   0.1  X  50           =   5.0       ซีซี
                  จำนวนโดสที่ต้องการ  คือ  ตัวละ               0.8                 โดส
                       จากสูตร                      dose           =          D/R
                   แทนค่า  ได้                      0.8             =         D / 2,000
                                  D             =         0.8  X  2,000
                                                                          =       1,600                  กรัม
          ต้องใช้เม็ดต่อมใต้สมองที่เก็บจากปลาไนน้ำหนักตัว          =   1,600         กรัม 
          นั่นคือ  เลือกเม็ดต่อมใต้สมองที่เก็บจากปลาไนน้ำหนักตัว     1,600    กรัม    อาจใช้เพียงเม็ดเดียวจากปลาน้ำหนักตัว  1,600  กรัมเลย   หรือใช้ต่อมใต้สมองหลายเม็ดที่เก็บจากปลาหลายตัว   ซึ่งรวมน้ำหนักตัวให้ได้  1,600  กรัม   เช่น   อาจใช้ต่อมใต้สมองจำนวน  5  ต่อม   ซึ่งเก็บมาจากปลาน้ำหนักตัวๆละ  250 ,  300 ,  300 ,  350  และ  400  กรัมตามลำดับ   รวมน้ำหนักตัวปลาได้  1,600  กรัม   นำมาบดแล้วผสมน้ำจำนวน  5.0  ซีซี   เขย่าให้เข้ากันดี   จากนั้นนำไปฉีดปลา กาแดง   ตัวละ  0.1  ซีซี   จะฉีดได้ครบทั้ง   50  ตัว   ได้ฮอร์โมนตัวละ  0.8  dose  ตามต้องการ
         8.2 ฮอร์โมนสกัด (Extracted  Hormone)  เป็นฮอร์โมนที่ผลิตจากส่วนผสมที่เตรียมจากทั้ง  Gonadotropic  Hormone  ซึ่งสกัดจากปัสสาวะของสตรีที่กำลังตั้งครรภ์ (จุดสุดยอดของปริมาณฮอร์โมน  อยู่ระหว่างวันที่  60 - 75  หลังจากตั้งครรภ์   โดยในปัสสาวะ  1,000  ซีซี  หรือ  1  ลิตร  จะมีฮอร์โมนประมาณ  5,000 - 10,000  IU)   และผสมกับต่อมใต้สมองของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด  ได้แก่  หมู   หนู   หรือกระต่าย   ชนิดใดชนิดหนึ่งแล้วแต่บริษัท   ฮอร์โมนสกัดจะมีจำหน่ายตามร้านขายยา   ตามโรงพยาบาล   และร้านขายเครื่องมือวิทยาศาสตร์   ใช้ชื่อทางการค้าต่างๆกัน   เช่น   Synahorin,  Pare  Hormone  และ  Puberogen  เป็นต้น
8.3 ฮอร์โมนสังเคราะห์ (Synthetic  Hormone)  เป็นฮอร์โมนที่นิยมใช้กันมากที่สุดในปัจจุบัน   เนื่องจากใช้ง่าย   สะดวก   เก็บรักษาง่าย   และให้ผลดี   ฮอร์โมนสังเคราะห์ที่จำหน่ายในท้องตลาดมีชื่อทางการค้าว่า  Suprefact   ซึ่งมีตัวยาหรือฮอร์โมน  คือ   Buserelin  Acetate   อยู่ในรูปของสารละลาย   บรรจุขวดละ  10  ซีซี   มีตัวยาฮอร์โมนอยู่  10  มิลลิกรัม   ก่อนใช้ควรนำฮอร์โมนมาเจือจางก่อน   เพราะในการใช้ฉีดปลาจะใช้ในปริมาณที่น้อยมาก   เตรียมขวดขนาดเล็กมีความจุประมาณ  15 - 20  ซีซี   มีจุกปิดสนิท   ใช้เข็มฉีดยาขนาด  1  ซีซีที่สะอาด   ดูดน้ำยามา  1  ซีซีถ่ายลงในขวดที่เตรียมไว้   แล้วเติมน้ำกลั่นลงไปอีก  9  ซีซี   ปิดจุกแล้วเขย่าให้น้ำยาเข้ากัน   ดังนั้นฮอร์โมนที่เตรียมใหม่จะมีปริมาตรรวม  10  ซีซี     มีตัวยาอยู่    1  มิลลิกรัม   หรือเท่ากับ  1,000  ไมโครกรัม (µg)   การใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์จะต้องใช้ร่วมกับยาเสริมฤทธิ์   เพื่อช่วยให้ฮอร์โมนที่ฉีดเข้าไปมีประสิทธิภาพดี   ยาเสริมฤทธิ์ที่นิยมใช้มีชื่อทางการค้าว่า  Motelium   ซึ่งมีตัวยาคือ  Domperidone   มีลักษณะเป็นเม็ดสีขาว   บรรจุแผงๆละ  10 เม็ด ยา  1  เม็ด  จะมีตัวยาอยู่  10  มิลลิกรัม
          อัตราการใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์  
             จะใช้ในอัตรา  10 - 20  µg ต่อน้ำหนักปลา  1  กิโลกรัม
              และยาเสริมฤทธิ์  10  มิลลิกรัม  ต่อน้ำหนักปลา  5  กิโลกรัม
ตัวอย่าง ต้องการฉีดปลากาแดง จำนวน  50  ตัว  น้ำหนักตัวละ  40  กรัม  ให้ได้ปริมาณฮอร์โมน  15  µg ต่อน้ำหนักปลา  1  กิโลกรัม  และยาเสริมฤทธิ์ 10  มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักปลา  5  กิโลกรัม
การคำนวณ    ปลากาแดงที่ต้องการฉีดมีน้ำหนักตัวละ          40      กรัม
                        กำหนดปริมาตรน้ำยาที่จะฉีดเข้าตัวได้ตัวละ      0.1     ซีซี(เพราะเป็นปลาขนาดเล็ก)
                  จำนวนปลาที่ต้องการฉีดฮอร์โมน                    50        ตัว
              ปริมาตรน้ำที่จะใช้ผสมต่อม                          =   0.1  X  50       =   5.0       ซีซี ………..( 1 )
               หาน้ำหนักปลารวมทั้งหมด                         =   40  X  50        =   2,000   กรัม
               แต่ต้องการฉีดฮอร์โมนปริมาณ                       15         µg ต่อน้ำหนักปลา  1  กิโลกรัม
               \ต้องการฮอร์โมนรวม                              =     15  X  2        =   30       µg 
    ต้องใช้ฮอร์โมนจากขวดที่เจือจางไว้แล้ว
    ซึ่งมีฮอร์โมน   1,000  µg   ในน้ำยา                            10                               ซีซี
    ถ้าต้องการฮอร์โมน  30  µg  จะอยู่ในน้ำยา            =   10  X  30/1,000       =     0.3     ซีซี ……( 2 )
          และต้องการยาเสริมฤทธิ์ปริมาณ                           10        มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักปลา  5  กิโลกรัม
          \ต้องการยาเสริมฤทธิ์                                    =   10  X  2/5            =   4       มิลลิกรัม
เตรียมยาเสริมฤทธิ์   โดยใช้ยา   1   เม็ด  บดให้ละเอียดแล้วเติมน้ำ   1   ซีซี  (ยาเสริมฤทธิ์จะละลายน้ำได้น้อยมาก   ปล่อยให้ตกตะกอน   และให้ถือว่าน้ำใสเหนือตะกอนมียาละลายเต็มที่)
นั่นคือตัวยา   10   มิลลิกรัม   ละลายอยู่ในน้ำ                      1        ซีซี
ตัวยาที่ต้องการ   4   มิลลิกรัม   จะอยู่ในน้ำ                  =    1  X  4 / 10           =   0.4     ซีซี…………( 3 )
เตรียมผสมน้ำยาที่ต้องการ      ใช้ขวดเปล่าอีก   1   ใบ
ดูดน้ำยาฮอร์โมนจากขวดที่เจือจางแล้ว   จาก (2)   จำนวน       0.3     ซีซี    ใส่ลงขวดใหม่
ดูดยาเสริมฤทธิ์   จาก (3)   จำนวน          0.4       ซีซี    ใส่ผสมลงในขวดฮอร์โมน
จากนั้นใส่น้ำกลั่นลงไปอีก    4.3   ซีซี   จะได้ปริมาณน้ำยาเป็น    5.0   ซีซี   ตามต้องการ  จาก (1)
เขย่าให้น้ำยาผสมเข้ากันดี    แล้วนำไปฉีดปลากาแดงตัวละ  0.1  ซีซี
จะได้ปริมาณฮอร์โมน   และยาเสริมฤทธิ์ในปลาแต่ละตัวตามต้องการ
จะเห็นได้ว่าใช้ปริมาณฮอร์โมนค่อนข้างน้อยมาก
คือ จากปริมาณฮอร์โมนที่ต้องการ    15  µg ต่อน้ำหนักปลา  1  กิโลกรัม( 1,000  กรัม )
ถ้าพิจารณาปลากาแดงเพียง  1   ตัว   ซึ่งมีน้ำหนักตัวเพียง   40   กรัม
\ปลากาแดง  1  ตัว   ต้องการฮอร์โมน                          =    15  X  40 / 1,000             =     0.6           µg เท่านั้น         
9 เทคนิคการเพาะพันธุ์ปลา      
          การเพาะพันธุ์ปลาจะได้รับผลสำเร็จมากน้อยเพียงใด   ขึ้นกับปัจจัยดังนี้
          9.1 การคัดพ่อแม่พันธุ์   ปลาที่จะนำมาเพาะจะต้องเป็นปลาที่มีไข่แก่แล้วเท่านั้น   คือมีรังไข่อยู่ในขั้นพักตัว (Resting  Stage)   มิใช่ว่าปลาที่มีการตั้งท้องทุกตัว(คือเห็นส่วนท้องขยายออก)จะนำมาใช้เพาะได้ทั้งหมด   ผู้เพาะจะต้องรู้จักวิธีการคัดปลาที่มีไข่แก่พร้อมที่จะผสมพันธุ์   ซึ่งส่วนใหญ่จะอาศัยดูจากติ่งเพศ   ปลาที่มีไข่แก่จะมีการขยายตัวของติ่งเพศ   และส่วนท้องขยายนิ่ม   ทั้งนี้จะต้องขึ้นกับประสบการณ์   ความชำนาญ   และความช่างสังเกตุของผู้เพาะพอสมควร  
          9.2 การเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ปลา  เนื่องจากปลาสวยงามมักได้รับการเลี้ยงดูเอาใจใส่อย่างดี   โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีระบบกรองน้ำที่ดี   ทำให้คุณภาพน้ำค่อนข้างดีอยู่ตลอดเวลา   ดังนั้นเมื่อแยกปลาไปลงบ่อเพาะ   น้ำใหม่ในบ่อเพาะจึงไม่สามารถกระตุ้นให้ปลาวางไข่ได้   เพราะสภาพน้ำในบ่อเลี้ยงและบ่อเพาะไม่มีความแตกต่างกัน   ดังนั้นปลาที่จะเตรียมหรือเลี้ยงเพื่อเป็นพ่อแม่พันธุ์ไว้เพาะพันธุ์   ควรจะเลี้ยงไว้ในลักษณะที่คุณภาพน้ำไม่ดีมากนัก   เช่น   เปลี่ยนเครื่องกรองน้ำเป็นแบบ Box  Filter   ซึ่งพอช่วยกรองน้ำได้บ้างพร้อมเพิ่มออกซิเจนไปในตัว   และงดการถ่ายน้ำก่อนการเพาะประมาณ  1  เดือน   จะทำให้ปลามีความรู้สึกว่าสภาพน้ำในบ่อเลี้ยงไม่ดีนัก   เพราะจะมีสารประกอบไนโตรเจนที่เกิดจากการหมักหมมและสิ่งขับถ่ายมากขึ้น   เมื่อคัดปลาไปลงบ่อเพาะซึ่งเป็นน้ำใหม่มีคุณภาพดีกว่ามาก   จะทำให้ปลามีความรู้สึกเหมือนกับการได้รับน้ำใหม่ในช่วงฤดูฝน   จึงทำให้ปลาเกิดการวางไข่ได้อย่างง่ายดาย 
          9.3 วิธีการคัดพ่อแม่พันธุ์   ต้องทำด้วยความระมัดระวัง   ให้ปลามีความบอบช้ำน้อยที่สุด   และควรงดให้อาหารปลา   ก่อนการคัดประมาณ  4 - 6  ชั่วโมง   เพื่อป้องกันความผิดพลาดจากการขยายตัวของท้องเนื่องจากปริมาณอาหารที่กินเข้าไป  
          9.4 การเตรียมบ่อเพาะ  จะต้องให้มีความพร้อมที่ปลาต้องการในการวางไข่ให้มากที่สุด   เช่น  ปลาทอง   ปลาคาร์พ   ปลาเสือสุมาตรา   ปลาเซเป้   ในธรรมชาติจะวางไข่บริเวณผิวน้ำ   ในบ่อเพาะจึงควรเตรียมรังลอยใกล้ผิวน้ำ ปลาดุก   ปลาแขยง   ปลากด   ในธรรมชาติจะวางไข่ตามบริเวณพื้นก้นบ่อ   ในบ่อเพาะจึงควรเตรียมรังอยู่ก้นบ่อ   นอกจากนั้นระดับน้ำในบ่อเพาะสำหรับการเพาะปลาสวยงาม   ไม่ควรเกินกว่า  30  เซนติเมตร                           
9.5 การเพิ่มลม  จะให้ลมแรงมากน้อยเพียงใดต้องดูจากพฤติกรรมการวางไข่ในธรรมชาติของปลาแต่ละชนิด   ปลาที่ไข่ทิ้งโดยเฉพาะพวกที่มีไข่ครึ่งลอยครึ่งจมจะต้องการลมแรง   มีการหมุนเวียนของน้ำยิ่งมากยิ่งดี   แต่ปลาที่มีการจับคู่สร้างรังและมีการดูแลรักษาไข่   จะต้องการความสงบไม่ต้องการให้มีการไหลของน้ำ   ควรเปิดลมเบาๆเพื่อเป็นการเพิ่มออกซิเจนเท่านั้น
          9.6 การเพิ่มน้ำ   หากสามารถทำน้ำไหลหรือทำฝนเทียมเลียนแบบธรรมชาติ   ก็จะยิ่งทำให้ปลาวางไข่ได้ดีขึ้น   และจะมีอัตราการผสมค่อนข้างดีด้วย   เพราะการระบายน้ำจะช่วยไล่ความคาวหรือเมือกที่เกิดขึ้นในขณะที่ปลาวางไข่ออกไปด้วย        
          9.7 การเลือกใช้ฮอร์โมน   ถ้าหากเป็นปลาที่จำเป็นต้องฉีดฮอร์โมนกระตุ้น   ก็ควรเลือกชนิดฮอร์โมนให้เหมาะสม   สำหรับปัจจุบันการใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์จะสะดวกและให้ผลดี   นอกจากนั้นยังต้องเลือกวิธีการให้เหมาะสมด้วย   ต้องศึกษาว่าปลาชนิดใดใช้วิธีการฉีดฮอร์โมนเพื่อกระตุ้นการแพร่พันธุ์วางไข่ได้   และปลาชนิดใดจะฉีดฮอร์โมนเพื่อกระตุ้นการตกไข่   เพื่อจะทำให้สามารถดำเนินการจัดเตรียมบ่อเพาะและอุปกรณ์ต่างๆได้ถูกต้อง                                                                                                                     
10 การอนุบาลลูกปลา         
          การอนุบาลลูกปลาเป็นขั้นตอนที่ต้องการความรู้ความชำนาญ   ตลอดจนการดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างยิ่ง   การอนุบาลลูกปลาทะเลจะค่อนข้างยาก   เนื่องจากลูกปลาทะเลมักจะมีขนาดค่อนข้างเล็กมาก   ส่วนปลาน้ำจืดนั้นยังจัดว่าดำเนินการได้ง่ายเพราะลูกปลามีขนาดโตพอควร   และหัดให้กินอาหารสมทบได้ง่าย
          โดยปกติแล้วลูกปลาทุกชนิดที่พึ่งฟักตัวออกจากไข่   จะมีถุงไข่แดง (Yolk  Sac) หรือถุงอาหารซึ่งจะสังเกตได้ว่าที่หน้าท้องของลูกปลาจะป่องนูนออกมา   ลูกปลาจะอาศัยอาหารจากถุงไข่แดงนี้เลี้ยงตัวอยู่ได้  1 - 2  วันแล้วแต่ชนิดปลา   ในระยะนี้ลูกปลาที่เกิดจากพวกไข่ติดมักจะเกาะอยู่ใกล้ๆบริเวณที่ฟักตัว   ส่วนลูกปลาที่ฟักออกจากไข่ครึ่งลอยครึ่งจม   ก็จะว่ายน้ำในลักษณะพุ่งตัวขึ้นลงในแนวดิ่งตลอดเวลา   เมื่อลูกปลาใช้อาหารจากถุงไข่แดงหมดแล้ว   ลูกปลาทั้งหลายก็จะว่ายน้ำในแนวระดับเพื่อหาอาหาร   ผู้เลี้ยงก็จะต้องจัดเตรียมอาหารที่เหมาะสมให้แก่ลูกปลา   หากลูกปลาไม่สามารถกินอาหารที่ให้   หรือได้รับอาหารไม่เพียงพอในช่วงแรกนี้   ลูกปลาจะแคระแกรนเติบโตช้า   และจะเริ่มทำอันตรายกันเอง   ทำให้มีอัตรารอดน้อย   จะสังเกตุได้ว่าลูกปลาในครอกเดียวกันจะมีขนาดแตกต่างกันมาก   แต่ถ้าลูกปลากินอาหารที่ให้ได้ดีและมีอาหารเพียงพอ   ลูกปลาจะเติบโตรวดเร็วมีขนาดสม่ำเสมอกัน   และมีอัตราการรอดสูง
10.1 การอนุบาลลูกปลากินเนื้อ   ปลาที่จัดเป็นประเภทปลากินเนื้อ   เช่น  ปลากัด   ปลาเทวดา   ปลาปอมปาดัวร์   ปลาออสการ์   และปลามังกร   ลูกปลาที่เกิดมาก็มักจะต้องการอาหารที่มีชีวิตในช่วงระยะแรกๆ   ผู้เลี้ยงจำเป็นจะต้องเตรียมเพาะไรแดง   หรืออาร์ทีเมีย   ไว้เป็นอาหารลูกปลา   โดยจะต้องเลี้ยงด้วยอาหารมีชีวิตอยู่ประมาณ  10 - 20  วัน   แล้วแต่ชนิดปลา   ลูกปลาจะมีขนาดโตขึ้นและหากินอาหารได้ดี   จากนั้นจึงเริ่มหัดให้กินอาหารสมทบ   ลูกปลาก็จะเติบโตรวดเร็วและมีอัตราการรอดดี
          10.2 การอนุบาลลูกปลากินพืช  กลุ่มปลากินพืชและกินทุกอย่าง   เช่น   ปลาทอง   ปลาคาร์พ   ปลาหางนกยูง   ปลาสอด   ปลาซิว   ปลาสร้อย   และปลาตะเพียนทอง   เป็นกลุ่มปลาที่อนุบาลลูกปลาได้ง่าย   เมื่อลูกปลาใช้อาหารจากถุงอาหารหมดแล้ว   ลูกปลาสามารถกินอาหารสมทบได้ทันที   สมัยก่อนนิยมใช้ไข่ต้มสุกแล้วเอาเฉพาะไข่แดงมาขยี้ผ่านผ้าขาวบาง   ก็นำไปให้ลูกปลากินได้เลย   แต่ปัจจุบันนิยมใช้อาหารผงซึ่งเป็นอาหารอนุบาลลูกปลาดุก   เป็นอาหารที่มีคุณค่าทางอาหารครบถ้วน   และลูกปลากินได้ดี   นำไปโปรยบนผิวน้ำอาหารจะค่อยๆดูดน้ำแล้วจมตัวลง   ลูกปลากินได้เป็นอย่างดี   ให้อาหารผงเป็นเวลา  10 - 15  วัน   ลูกปลาจะมีขนาดใหญ่ขึ้น  จึงหัดให้กินอาหารเม็ดต่อไป   เพราะการใช้อาหารเม็ดเลี้ยงปลาจะลดปัญหาเรื่องน้ำเสียได้ดีกว่าการใช้อาหารผง                                                                  
11 เทคนิคการอนุบาลลูกปลา      animated gifs
          ไม่ว่าจะเป็นการอนุบาลลูกปลาโดยใช้อาหารมีชีวิตหรืออาหารสมทบก็ตาม   สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้การอนุบาลลูกปลาประสบผลสำเร็จก็คือ   การเปลี่ยนถ่ายน้ำ   เพราะการอนุบาลจำเป็นต้องให้อาหารมากเกินพอ   และผู้เลี้ยงมักจะให้อาหารมากเกินความต้องการของปลาไปมากเสมอ   ทำให้มีอาหารตกค้างสะสมอยู่ที่ก้นบ่ออนุบาลค่อนข้างมากทุกวัน   และสิ่งตกค้างเหล่านี้จะมีผลทำให้ลูกปลาติดเชื้อได้ง่าย   ดังนั้นบ่ออนุบาลจะต้องสามารถล้างได้ง่าย   หรือปรับระบบน้ำไหลได้ดี   และสามารถระบายของเสียทิ้งได้ด้วย   การล้างเศษอาหารที่ตกค้างจะช่วยลดกลิ่นเน่าเหม็นที่เกิดขึ้นภายในบ่ออนุบาล   เป็นการช่วยป้องกันการเกิดโรคระบาดได้อย่างดี   นอกจากนั้นการล้างบ่ออนุบาลบ่อยๆยังเท่ากับเป็นการเปลี่ยนน้ำใหม่ให้ปลาด้วย   ถ้าสามารถล้างได้ทุกวันลูกปลาจะเติบโตได้อย่างรวดเร็ว                                                                 
  คำถามท้ายบท             
       การเพาะพันธุ์ปลาให้ประสบผลสำเร็จ ขึ้นอยู่กับปัจจัยอะไรบ้าง               
                   ส่งคำตอบ                                  
              


ไม่มีความคิดเห็น: